Like/Share:
ทัวร์เกียวโต เที่ยวเกียวโต
เกียวโต หรือ นครเกียวโต เป็นเมืองเอกของจังหวัดเกียวโต และเป็นอดีตเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดว่าเป็นศูนย์กลางของเกาะฮนชู นอกจากนี้นครเกียวโตยังเป็นหนึ่งในสมาชิกของ กลุ่มเมืองใหญ่ "เคฮันชิง" และนครเกียวโต ยังจัดว่าเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 11 ของโลก ในปี พ.ศ. 2555
ก่อนออกทัวร์เรามาทำความรู้จักเมืองเกียวกันก่อน เมืองเกียวโต ศตวรรษที่ 8 นักบวชในพุทธศาสนานั่นมีอิทธิพลอย่างมากในการเป็นอยู่ของบ้านเมือง นักบวชได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการในราชสำนักของสมเด็จพระจักรพรรดิ ทำให้จักรพรรดิตัดสินพระทัยที่จะย้ายนครหลวงไปยังภูมิภาคที่ห่างไกลจากอิทธิพลของพุทธศาสนา จักรพรรดิคัมมุ ทรงเลือกชัยภูมิแห่งใหม่ ที่หมู่บ้านอุดะ
นครหลวงแห่งใหม่นี้ประชาชนได้รับนามว่า เฮอังเกียว ซึ่งนครหลวงแห่งใหม่นี้ได้แนวคิดมาจากนครหลวงฉางอานแห่งราชวงศ์ถัง เพียงแต่ปรับขนาดให้เล็กลง และต่อมาใน ค.ศ. 794 ก็ได้กลายเป็นนครที่ตั้งของราชสำนัก ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเฮอังในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามแม้ว่าภายหลัง รัฐบาลทหารจะตั้งเมืองอื่นๆเป็นศูนย์กลางทางอำนาจการปกครองที่ไม่ใช่เกียวโต (รัฐบาลโชกุนมุโระมะชิ) เช่น คะมะกุระ (โดยรัฐบาลโชกุนคะมะกุระ) หรือ เอะโดะ (โดยรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ) แต่โดยทางนิตินัยแล้ว นครหลวงของญี่ปุ่นยังคงเป็นเกียวโตอันเป็นนครที่พระจักรพรรดิทรงประทับอยู่ จนถึง ค.ศ. 1869 (ยุคฟื้นฟูจักรวรรดิ) ที่ราชสำนักได้ย้ายไปยังกรุงโตเกียว
เกียวโตได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงครามโอนินในช่วง ค.ศ. 1467-1477 และไม่ได้รับการบูรณะจนล่วงเข้าสู่กลางทศวรรษที่ 16 โทะโยะโทะมิ ฮิเดะโยะชิได้บูรณะเมืองขึ้นมาอีกครั้งโดยการสร้างถนนสายใหม่กลางกรุงเกียวโตจนมีถนนเชื่อมเมืองฝั่งเหนือกับฝั่งใต้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และมีผังเมืองแบบบล็อกสี่เหลี่ยมแทนที่ผังเมืองแบบโบราณ ฮิเดะโยะชิยังได้สร้างกำแพงดินขึ้นมาเรียกว่า โอะโอะอิ (御土居) รอบเมือง ถนนเทระมะชิในกลางกรุงเกียวโตจึงเป็นศูนย์กลางของวัดพุทธเมื่อฮิเดะโยะชิเริ่มรวบรวมวัดให้เป็นปึกแผ่น ในสมัยเอะโดะ เกียวโตก็เป็นหนึ่งในสามเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เช่นเดียวกับนครเอะโดะและนครโอซะกะ
ในช่วงกบฏฮะมะงุริ ในปี ค.ศ. 1864 บ้านเรือน 28,000 หลังได้รับความเสียหายอยากหนักจากการต่อสู้ของกบฏ และในครั้งการย้ายเมืองหลวงของพระจักรพรรดิในปี ค.ศ. 1869 ทำให้สภาพเศรษฐกิจของเกียวโตอ่อนแอลงมาก จากนั้นมีการตั้งเมืองใหม่ของเกียวโตในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1889 มีการขุดสร้างคลองทะเลสาบบิวะในปี ค.ศ. 1890 นำน้ำมาหล่อเลี้ยงเมืองจนกระทั่งพัฒนาไปเป็นเมืองที่เจริญก้าวหน้าจนมีประชากรเกินหนึ่งล้านคนในปี 1932
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาเคยมีแผนจะทิ้งระเบิดปรมาณูที่เกียวโต ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นศูนย์กลางทางปัญญาของญี่ปุ่น และมีชาวเมืองที่"ดูมีความสุขกับการสร้างอาวุธ" แต่ในท้ายที่สุด เฮนรี แอล สติมสัน เสนาธิการสงครามในยุคของประธานาธิปดีรูสเวลต์และประธานาธิบดีทรูแมนได้ถอดชื่อเกียวโตออกจากรายชื่อเมืองที่จะทิ้งระเบิดปรมาณูในช่วงปลายสงคราม และเปลี่ยนเป็นเมืองนะงะซะกิแทน นอกจากนี้ เมืองยังรอดพ้นจากการทิ้งระเบิดสงครามในสงครามอีกด้วย แม้จะมีการโจมตีทางอากาศอยู่บ้างประปราย
ผลจากการตัดสินใจครั้งนั้น ทำให้เกียวโตเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองในญี่ปุ่นที่ยังมีสิ่งก่อสร้างในยุคก่อนสงครามหลงเหลืออยู่มากมาย เช่น บ้านโบราณที่รู้จักกันในชื่อ มะชิยะ แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเมืองก็กำลังทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของเกียวโตค่อยๆถูกสถาปัตยกรรมใหม่ๆกลืนหายไป
เกียวโตมีสถานะเป็นเมืองอันตั้งขึ้นโดยข้อบังคับของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1956 และในปี 1997 เกียวโตก็เป็นสถานที่จัดการประชุมครั้งสำคัญว่าด้วยเรื่องการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก จนมีข้อบังคับออกมาเป็นพิธีสารเกียวโตที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน
ทีมาของชื่อเมือง เกียวโต
แต่เดิม เมืองนี้มีชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า เคียว (京) และ มิยะโกะ (都) หรือบางครั้งก็ถูกเรียกรวมว่า เคียวโนะมิยะโกะ (京の都) ต่อมาในศตวรรษที่ 11 ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เกียวโต (มีความหมายว่า เมืองหลวง) ตามคำของภาษาจีนของเมืองหลวงที่อ่านว่า จุงตู (京都) แต่หลังจากที่เมืองเอะโดะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นโตเกียว (มีความหมายว่า "เมืองหลวงตะวันออก") ในปี ค.ศ. 1868 เมืองเกียวโตก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ไซเกียว (西京 มีความหมายว่า "เมืองหลวงตะวันตก") เป็นเวลาสั้นๆ ก่อนจะเปลี่ยนกลับมาเป็น เกียวโต ในเวลาต่อมา
ภูมิศาสตร์เมือง เกียวโต
เกียวโต ตั้งอยู่กลางหุบเขาในลุ่มน้ำยะมะชิโระ (หรือลุ่มน้ำเกียวโต) ทางฝั่งตะวันออกของที่ราบสูงทัมบะ ลุ่มน้ำยะมะชิโระนี้ล้อมรอบด้วยภูเขาสามด้านคือ ฮิงะชิยะมะ คิตะยะมะ และนิชิยะมะ มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเพียง 1,000 เมตร การที่มีภูมิประเทศอยู่ในแผ่นดินลักษณะนี้ทำให้เกียวโตมีฤดูร้อนที่อากาศร้อน และฤดูหนาวที่อากาศหนาว มีแม่น้ำสามสายที่ไหลผ่านที่ราบลุ่มแห่งนี้คือ แม่น้ำอุจิ ทางทิศใต้ แม่น้ำคัทสึระ ทางทิศตะวันตก และแม่น้ำคะโมะ ทางทิศตะวันออก เมืองเคียวโตมีพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 17.9 ของพื้นที่ทั้งจังหวัดเกียวโตด้วยอาณาเขต 827.9 ตารางกิโลเมตร
เกียวโตเป็นเมืองที่สร้างตามจากหลักฮวงจุ้ยของจีน โดยได้รับอิทธิพลจากเมืองฉางอาน เมืองหลวงของราชวงศ์ถังของจีนในสมัยนั้น โดยมีพระราชวังหันหน้าไปทางทิศใต้ มีอุเกียว (ฝั่งขวาของพระนคร) อยู่ทางตะวันตก และมีซะเกียว (ฝั่งซ้ายของพระนคร) อยู่ทางตะวันออก
ทุกวันนี้พื้นที่ธุรกิจส่วนใหญ่ของเกียวโตตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพระราชวังเก่า แต่ได้รับความนิยมน้อยกว่าฝั่งเหนือของเมือง ทำให้ยังคงความชะอุ่มของสีเขียวจากธรรมชาติอยู่ สิ่งก่อสร้างที่อยู่รอบๆพระราชวังไม่ได้ตั้งตามหลักฮวงจุ้ยแบบบราณแล้ว แต่ตัวถนนของเกียวโตยังคงความเป็นเอกลักษณ์นี้ไว้อยู่
ภูมิอากาศเมือง เกียวโต
นครเกียวโตมีสภาพอากาศแบบค่อนข้างร้อนอบอ้าวเป็นอย่างมากในช่วงฤดูร้อน อากาศจะร้อนและชื้น
ในฤดูหนาวจะมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็นประกอบกับมีหิมะเป็นครั้งคราว ฤดูฝนของเกียวโตเริ่มตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม
ประชากรเมือง เกียวโต
เกียวโตเคยเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในญี่ปุ่น ก่อนจะถูกโอซะกะและเอะโดะ(โตเกียว)แซงไปในช่วงท้ายศตวรรษที่ 16 ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกียวโตทำการค้ากับโคเบะและนะโงะยะในปริมาณมาก ช่วงหลังสงคราม ในปี 1947 เกียวโตมีประชากรเป็นอันดับสามของญี่ปุ่นอีกครั้ง และประชากรค่อยๆลดลงไปเรื่อยๆ จนมาอยู่อันดับ 5 ของญี่ปุ่นในปี 1960 และหล่นมาอยู่อันดับ 7 ในปี 1990 จนกระทั่งปี 2012 ก็มีประชากรมากสุดเป็นอันดับ 8 ของญี่ปุ่น
วัฒนธรรมเมือง เกียวโต
แม้เกียวโตจะถูกรบกวนด้วยสงครามหลายครั้ง ไฟไหม้ และแผ่นดินไหวบ่อยครั้งในช่วงที่เป็นเมืองหลวงตลอด 11 ศตวรรษ แต่เกียวโตก็รอดพ้นจากการโจมตีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งยังถูกถอดออกจากรายชื่อเมือง ที่จะถูกทิ้งระเบิดปรมาณูจากกองทัพสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายสงคราม แต่การทิ้งระเบิดนั้นได้เปลี่ยนไปเป็นเมืองนะงะซะกิแทน ผู้นำ เฮนรี แอล. สติมสัน รัฐมนตรีผู้เป็นคนชี้ขาดออกคำสั่งในสงครามของสหรัฐฯต้องการที่จะรักษาวัฒนธรรมนี้ไว้ และได้รู้จักเมืองเกียวโตนี้จากการไปเยือนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตและจากการไปฮันนีมูน
เกียวโตมีสถานที่สำคัญทางศาสนากว่า 2,000 แห่ง เป็นวัดทางศาสนาพุทธ 1,600 แห่ง และทางลัทธิชินโต 400 แห่ง มีพระราชวัง สวน และสิ่งก่อสร้างที่ยังคงความดั้งเดิมไว้มาก มีวัดที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง อาทิ วัดคิโยะมิซุที่สร้างโดยใช้เสาหลักปักตามเนินของภูเขา วัดคิงคะคุจิหรือวัดทอง วัดกิงคะคุจิหรือวัดเงิน และวัดเรียวอันจิที่มีสวนหินที่โด่งดัง ศาลเจ้าเฮอังเป็นศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงในลัทธิชินโต สร้างขึ้นในปี 1895 เพื่อเฉลิมพระเกียรติขององค์พระจักรพรรดิของญี่ปุ่นและให้ระลึกถึงราชวงศ์แรกและราชวงศ์สุดท้ายที่ประทับอยู่ที่เกียวโต
ราชวงศ์ของญี่ปุ่นมีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่สามแห่งของเกียวโต ได้แก่ เขตเกียวเอ็นของเกียวโต อันเป็นที่ตั้งของพระราชวังเกียวโต และพระราชวังเซนโตะ ที่ประทับของสมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นหลายร้อยปี เขตพระราชวังหลวงคัตสึระ อันเป็นสมบัติทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญของชาติ และเขตพระราชวังชุงะกุ อันเป็นสวนที่สวยที่สุดแหงหนึ่งของญี่ปุ่น
บริเวณอื่นๆของเกียวโต ก็มีความสำคัญทางวัฒนธรรมเช่นกัน เช่น อะระชิะยะมะ ย่านกิอง ย่านเกอิชาปงโตะโช ตลอดจนถนนสายนักปราชญ์ และคลองอีกหลายๆแห่ง
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เกียวโตโบราณ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก เมื่อปี ค.ศ. 1994 ซึ่งประกอบไปด้วยสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ศาลเจ้าคะโมะ วัดเคียวโอโกะโคะคุ(วัดโท) วัดคิโยะมิซุ วัดโดโงะ วัดนินนะ วัดไซโฮ(วัดโคะเคะ) วัดเทนรีว วัดโระคุอง(วัดคิงคะคุ) วัดจิโช(วัดกิงคะคุ) วัดเรียวอัง วัดฮงงัน วัดโคซัน และปราสาทนิโจ ที่สร้างโดยโชกุนโทะกุงะวะ และมีอีกหลายแห่งที่อยู่นอกเมืองที่อยู่ในรายชื่อมรดกโลกด้วย
เกียวโตเป็นเมืองที่มีอาหารญี่ปุ่นรสชาติโอชะอยู่มากมาย การที่เกียวโตเป็นเมืองที่ห่างไกลจากทะเลและมีวัดพุทธอยู่มากมายทำให้มีนำผักมาเป็นส่วนหนึ่งของอาหาร จนผักของเกียวโตมีชื่อเสียงขึ้นมาเรียกว่า เคียวยะไซ (京野菜)
เกียวโตยังมีสำเนียงภาษาพุดที่เป็นเอกลักษณ์ที่เรียกว่า เคียวโคะโตะบะ หรือ เกียวโตเบ็ง อันเป็นหนึ่งในรูปแบบของสำเนียงคันไซ เมื่อครั้งที่เกียวโตเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่นนั้น สำเนียงเกียวโตถือเป็นภาษาราชการของญี่ปุ่นและมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเป็นสำเนียงโตเกียว อันเป็นภาษามาตรฐานสมัยใหม่ของญี่ปุ่น ส่วนที่โดดเด่นของสำเนียงเกียวโตคือคำกริยาจะลงท้ายด้วย ฮะรุ เป็นต้น
เศรษฐกิจเมือง เกียวโต
เศรษฐกิจที่สำคัญในเกียวโตนั้นมาจากอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ นครเกียวโตนั้นยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่บริษัทชั้นนำมากมาย อาทิ นินเทนโด, ออมรอน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ การท่องเที่ยวยังเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเกียวโต จากการที่เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมนั้น ทำให้ในแต่ละวัน มีนักเรียน-นักศึกษาจากทั่วประเทศรวมถึงนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาทัศนศึกษาและท่องเที่ยวในเกียวโต และจากการสำรวจและจัดอันดับระดับภูมิภาคในปี 2007 นครเกียวโตได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่สองในเมืองที่น่าสนใจที่สุดของญี่ปุ่น รองจากนครซัปโปะโระ
นอกจากนี้ งานฝีมือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นยังเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของเกียวโต ซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยช่างฝีมือในโรงงานขนาดเล็ก กิโมโนของเกียวโตนั้นยังมีชื่อเสียงอย่างมาก จากการที่เกียวโตเป็นเมืองที่ยังคงเป็นศูนย์กลางของการผลิตกิโมโนชั้นนำ อย่างไรก็ตามธุรกิจชนิดนี้ก็ได้รับความนิยมน้อยลงในปัจจุบัน จากการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลด้านช่างฝีมือที่มีคุณภาพ
มหาวิทยาลัย เมืองเกียวโต
เกียวโตเป็นสถานที่ตั้งของสถาบันระดับอุดมศึกษา 37 แห่ง นับเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาที่สำคัญแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น โดยมีมหาวิทยาลัยเกียวโตเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศและของโลก และยังมีสถาบันเทคโนโลยีเกียวโตเป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในญี่ปุ่น มีชื่อเสียงในสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยโดะชิชะและมหาวิทยาลัยริทสึเมคังก็เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงในแถบเคฮังชินเช่นกัน
การคมนาคมทั้งหมดของเมือง เกียวโต
การขนส่งทางราง
สถานีเกียวโต เป็นศูนย์กลางการคมนาคมของเมือง เป็นสถานีที่รวมเอาห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้าอิเซะตัน และสำนักงานราชการหลายๆแห่งเอาไว้ในตึกสูง 15 ชั้น มีรถไฟชิงกันเซ็งสายโทไกโดวิ่งผ่านและเชื่อมต่อกับรถไฟของบริษัทเจอาร์เวสต์
นอกจากนี้ ยังมีรถไฟเอกชนอย่าง รถไฟเคฮัง รถไฟฮันกีว รถไฟคินเตะสึ และสายอื่นๆให้บริการรับส่งผู้โดยสารจากเกียวโตสู่พื้นที่อื่นๆในแถบคันไซโดยรถไฟเจอาร์เวสต์และรถไฟคินเตะสึจะเชื่อมต่อที่สถานีเกียวโต ขณะที่รถไฟฮันกีวจะเชื่อมต่อกับเกียวโตที่สถานีชิโจ คะวะระมะชิ อันเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าและย่านบันเทิงของเกียวโตมาตั้งแต่สมัยโบราณ
รถไฟใต้ดิน
สำนักงานขนส่งนครเกียวโต เป็นผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินนครเกียวโต ซึ่งมีอยู่สองสายหลักคือ
- สายคะระซุมะ: ทอดยาวตามแนวเหนือใต้
- สายโตไซ: ทอดยาวตามแนวตะวันออกและตะวันตก
รถไฟความเร็วสูง
รถไฟชิงกันเซ็งสายโทไกโดเชื่อมต่อเมืองเกียวโตกับนะโงะยะ โยะโกะฮะมะ และโตเกียวในทิศตะวันออก ตลอดจนโอซะกะ โคเบะ โอะคะยะมะ ฮิโระชิมะ คิตะคีวชู และฟุกุโอะกะทางทิศตะวันตก
ท่าอากาศยาน
ท่าอากาศยานที่ใกล้กับเกียวโตที่สุดคือ ท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ และ ท่าอากาศยานนานาชาติโอซะกะ ในจังหวัดโอซะกะ โดยมีรถไฟเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานทั้งสอง ใช้เวลาจากสถานีเกียวโตถึงท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ 73 นาที
รถประจำทาง
โครงข่ายรถประจำทางมหานครของเกียวโตและโครงข่ายเอกชนเป็นเครือข่ายที่ให้บริการค่อนข้างครอบคลุมตัวเมือง และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน ทั้งรถโดยสารทั่วไปและรถโดยสารสำหรับนักท่องเที่ยว มีการประกาศเป็นภาษาอังกฤษและแสดงข้อความถึงจุดจอดเป็นอักษรละตินอีกด้วย
รถประจำทางในเมืองส่วนใหญ่จะมีราคาเดียว และยังมีบัตรโดยสารแบบวันเดียวและแบบขึ้นได้ไม่จำกัดรอบจำหน่ายเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเยี่ยมชมสถานที่หลายๆแห่งในเกียวโตภายในเวลาอันสั้น
จักรยาน
การปั่นจักรยานก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเมืองเกียวโต เพราะสภาพภูมิประเภทศและขนาดของเมืองนับว่าเหมาะเป็นอย่างยิ่งกับการเที่ยวโดยจักรยาน นอกจากนี้ อัตราการขโมยจักรยานยังมีอัตราที่ต่ำ แต่การหาพื้นที่จอดจักรยานนับว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร
การคมนาคมทางน้ำ
เกียวโตมีแม่น้ำ คลองหลายสายไหลผ่าน ทั้งแม่น้ำเซะตะและอุจิ (แม่น้ำโยะโดะ) แม่น้ำคะโมะ และแม่น้ำคัตสึระ นอกจากนี้ คลองทะเลสาบบิวะก็เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเช่นกัน
สนใจโปรแกรมเที่ยวทัวร์เกียวโตคลิก