ชาวต่างชาติต้องการขอมีถิ่นที่อยู่ในไทย มีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง??
สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานาน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม เช่น มาทำงาน ติดตามครอบครัวมาทำงาน และอื่นๆ หากต้องการขอมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย จะต้องดำเนินการอย่างไร?? Wonderful Package มีคำตอบมาให้ท่านค่ะ
การขอมีถิ่นที่อยู่ในไทยนั้นไม่ได้เปิดรับให้ยื่นขอได้ตลอด แต่จะมีประกาศเปิดแจ้งรับตามจำนวนโควต้าที่กำหนด (โควต้าประจำปี) จึงจะดำเนินการขอยื่นได้
ข้อกำหนดจำนวนคนต่างชาติที่จะขอถิ่นที่อยู่ในไทยได้ (อ้างอิงข้อมูลล่าสุดของปี 2563)
- คนต่างชาติจะที่มีสัญชาติ จำนวนไม่เกิน 100 คน ของแต่ละประเทศ
- คนต่างชาติที่ไร้สัญชาติ จำนวนไม่เกิน 50 คน
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาให้มีถิ่นที่อยู่ในไทย มีอะไรบ้าง
- ถือหนังสือเดินทางของประเทศที่ตนถือสัญชาติอยู่ในปัจจุบัน
- ได้รับการตรวจลงตรา ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigration Visa)
- ผู้ขอยื่นที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบประวัติเบื้องก่อน
- ตรวจสอบว่ามีประวัติกระทำผิดหรือไม่ ด้วยการพิมพ์ลายนิ้วมือและกรอกประวัติ ที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร
- ตรวจสอบหนังสือรับรองประวัติอาชญากรรที่นำมาแสดง
- ตรวจสอบว่าเป็นบุคคลต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 หรือไม่
- ตรวจสอบว่าเป็นบุคคลที่มีหมายจับของตำรวจสากลหรือไม่ ที่กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- แสดงข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ สินทรัพย์ ความรู้ความสามารถในสาขาวิชาชีพ และฐานะในครอบครัวของคนต่างชาติกับบุคคลที่มีสัญชาติไทย
- ต้องพูดและฟังภาษาไทยได้อย่างเข้าใจ
ประเภทในการยื่นคำขอ จะต้องมีเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
- ขอเข้ามาเพื่อ "การลงทุน"
- ขอเข้ามาเพื่อ "ทำงาน"
- ขอเข้ามาเพื่อ "เหตุผลทางมนุษยธรรม" ซึ่งแบ่งตามความสัมพันธ์กับบุคคลสัญชาติไทย หรือมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่แล้ว ได้แก่
- เป็นสามี-ภรรยา ที่จดทะเบียนสมรสแล้ว
- เป็นบิดา-มารดา ที่มีอายุไม่น้อยกว่า 50 ปี
- เป็นบุตร ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และยังไม่ได้สมรส
- ขอเข้ามาเพื่อเป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" มีความรู้ความสามารถพิเศษ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ
- ขอเข้ามาเป็น "กรณีพิเศษเฉพาะราย" เช่น เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย
กำหนดวันเปิดรับคำขอวันไหน?
ในแต่ละปีจะเปิดให้คนต่างด้าวยื่นคำขอจำนวน 1 ครั้ง ซึ่งโดยปกติจะเปิดรับคำขอประมาณเดือนธันวาคมของทุกปี และจะสิ้นสุดในวันทำการสุดท้ายของปีนั้น
สำหรับปี 2563 การเปิดยื่นรับคำขอ กำหนดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2563 ในวันและเวลาราชการ
เมื่อรับคำขอแล้ว คนต่างด้าวจะต้องไปยื่นคำของด้วยตนเอง พร้อมเอกสารประกอบตามประเภทการยื่นคำขอ และให้นำหนังสือเดินทางฉบับจริงมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ด้วย
ขั้นตอนการดำเนินการหลังจากรับคำขอแล้ว
- เจ้าหน้าที่จะประทับตราอนุญาตให้อยู่ฟังผลรอพิจารณา ครั้งแรก 180 วัน ครั้งต่อไปครั้งละ 180 วัน จนกว่าจะทราบผลการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง
- รับใบนัดหมาย ให้ชาวต่างชาติและผู้เกี่ยวข้องมาสัมภาษณ์ โดยมีการทดสอบความสามารถพูดภาษาไทย และฟังภาษาไทย เข้าใจได้ (จะต้องมาตรงตามวันที่นัดหมาย หากไม่มาตามที่นัดหมายโดยไม่มีเหตุผลอันควร จะถือว่าสละสิทธิ์การยื่นคำขอดังกล่าว)
- ชาวต่างชาติ ที่มีอายุกว่า 40 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอ จะต้องได้รับการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม จากพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนี้
- พิมพ์ลายนิ้วมือชาวต่างชาติ ส่งไปตรวจประวัติที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อตรวจสอบว่ามีประวัติการกระทำผิดในประเทศไทยหรือไม่
- ตรวจสอบหนังสือเดินทางจากบัญชีเฝ้าดู (Black List) ว่าเป็นบุคคลต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 หรือไม่
- ตรวจสอบว่าเป็นบุคคลที่มีหมายจับต่างประเทศ (หมายแดง) จากกองการตรวจต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือไม่
หลักการพิจารณาเป็นอย่างไร??
- พิจารณาโดยคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สภาความมั่นคงแห่งชาติ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- หลักเกณฑ์การพิจารณาจะคำนึงถึง รายได้ สินทรัพย์ ความรู้ ความสามารถในด้านวิชาชีพ และฐานะในครอบครัวคนต่างชาติกับบุคคลสัญชาติไทย รวมถึงเงื่อนไขเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ บุคลิกภาพ สุขภาพ ความเข้าใจภาษาไทย และเงื่อนไขอื่นๆ ตามความเหมาะสมที่สอดคล้องกับสภาพสังคม และนโยบายของรัฐบาล
- ระยะเวลาในการพิจารณาแต่ละปีกำหนดระยะเวลาไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับนโยบายของคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองและกระทรวงมหาดไทย
หมายเหตุ :
- ชาวต่างชาติที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข คณะกรรมการจะพิจารณาจากคุณสมบัติของการยื่นคำขอแต่ละประเภท นับจากวันที่ยื่นคำขอ
- ชาวต่างชาติมีคุณสมบัติครบถ้วนและมีจำนวนเกินกำหนด (เกินโควต้า) คณะกรรมการจะพิจารณาโดยการแบ่งสัดส่วนจำนวนการอนุญาต ตามประเภทการยื่นคำขอกับจำนวนของผู้ที่มีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ทั้งหมดของคนต่างชาตินั้นๆ
- แม้ว่าจะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด แต่หากพิจารณาถึงความมั่นคงทางด้านเศษฐกิจ การเมือง และสังคมของไทยแล้ว ทางคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจที่จะพิจารณาไม่อนุญาต หรือไม่เห็นชอบให้ชาวต่างชาติผู้นั้นเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรได้
ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ มีค่าธรรมเนียมเท่าไหร่?
- การยื่นคำขอ มีค่าธรรมเนียม 7,600 บาท แม้ว่าจะได้รับอนุญาตหรือไม่ก็ตาม ท่านจะไม่ได้รับเงินค่าธรรมเนียมนี้คืน
- หากได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ จะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ฉบับละ 191,400 บาท
- หากชาวต่างชาติที่เป็นคู่สมรส พ่อแม่ หรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและมีความเกี่ยวพันธ์กับบุคคลที่มีสัญชาติไทย ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ จะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบสำคัญ ฉบับละ 95,700 บาท
สถานที่ยี่นคำขออยู่ที่ไหน?
- กรุงเทพ : ณ กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 (งานขอมีถิ่นที่อยู่) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี อาคารบี (ชั้น 2 ด้านทิศใต้) เลขที่ 120 หมู่ที่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ 7 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
- ส่วนภูมิภาค : ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองในท้องที่ที่ตนอยู่
- หากท้องที่นั้นไม่มีที่ทำการตรวจคนเข้าเมือง ให้ยื่นคำขอ ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองที่ใกล้เคียง
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีคุณสมบัติตรงกับหลักเกณฑ์ในการขอมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย อย่าพลาดที่จะดำเนินการยื่นขอ เมื่อได้รับใบสำคัญถิ่นที่อยู่แล้ว ก็ไม่ต้องคอยต่ออายุวีซ่าอยู่ตลอดเวลา
มีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษา ติดต่อกับ Wonderful Package สิคะ ทางเรามีทีมงานพร้อมให้คำแนะนำและบริการทุกท่านค่ะ
บทความแนะนำ
บริการแนะนำ
ขอบคุณข้อมูลจาก
- สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง Immitgration
What are the criteria to apply for a residence permit in Thailand?
外国人想在泰国拥有居留权,是有哪些规矩??
แชร์ บทความนี้
พูดคุย เกี่ยวกับบทความนี้