พิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของเมียนมาร์
พระมหามัยมุนี แห่งมัณฑะเลย์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศพม่า 1 ใน 5 มหาบูชาสถานสูงสุดของประเทศพม่า ที่ว่ากันว่า ที่นี่คือองค์พระพุทธรูปที่มีลมหายใจ
พระมหามัยมุนี เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ ปางมารวิชัย ทำจากทองสัมฤทธิ์หนัก 6.5 ตัน มีการสร้างบนฐานสูง 1.84 เมตร รวมองค์พระมีความสูงทั้งหมดกว่า 3.82 เมตร ไหล่กว้าง 1.84 เมตร และรอบเอวกว้าง 2.9 เมตร
ประวัติของพระมหามัยมุนี
ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าจันทสุริยะ กษัตริย์ของชาวยะไข่แห่งเมืองธัญญวดี (ปัจจุบันอยู่ในรัฐยะไข่ ทางด้านตะวันตกของพม่าติดกับบังคลาเทศ) โปรดฯให้สร้างพระมหามัยมุนี ซึ่งแปลว่า “มหาปราชญ์” ขึ้นในปี พ.ศ.689 หรือเกือบสองพันปีมาแล้ว เหตุเพราะพระพุทธเจ้าเสด็จมาเข้าพระสุบินประทานพรแก่พระเจ้าจันทสุริยะ ให้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นเพื่อเชิดชูพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง แต่เนื่องจากว่ามีขนาดใหญ่จึงต้องหล่อแยกเป็นชิ้นแล้วจึงนำมาประสานกัน โดยสามารถประสานกันได้สนิทจนไม่เห็นรอยต่อเป็นที่น่าอัศจรรย์ เชื่อกันว่าเป็นด้วยพรของพระศาสดาประทานไว้
ความงดงามและความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหามัยมุนีเลื่องลือไปไกล จึงเป็นที่หมายปองของกษัตริย์พม่านับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโนรธาแห่งอาณาจักรพุกาม บุเรงนองมหาราชแห่งหงสาวดี และอลองพญามหาราชแห่งรัตนปุระอังวะ ล้วนเพียรพยายามยกทัพไปเพื่อนำพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานเพื่อเป็นศิริมงคลแห่งดินแดนพม่าทุกยุคทุกสมัย แต่ต้องล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะความทุรกันดารของเส้นทางที่เต็มไปด้วยแม่น้ำและภูเขาสูง จนกระทั่งประสบความสำเร็จในสมัยพระเจ้าปดุง ก็สามารถนำเอาพระมหามุนีมาไว้ที่กรุงมัณฑะเลย์เมื่อปี พ.ศ.2327 ในปัจจุบันชาวพม่ายังเรียกพระมหามุนีอีกชื่อหนึ่งว่า “พระยะไข่”
จุดเด่นของที่นี่และที่พลาดไม่ได้คือ พิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี
พิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี เกิดจากความเชื่อของชาวเมียนมาตามเรื่องเล่าในอดีต ที่ว่าพระมหามัยมุนีได้รับประทานลมหายใจจากพระพุทธเจ้าจึงเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต จึงต้องจัดพิธีล้างหน้า แปรงฟัน ให้เหมือนกับคนในทุกเช้า ซึ่งได้ปฏิบัติเช่นนี้สืบทอดกันมานับร้อยปี
โดยทุกเช้าในเวลาประมาณ 04.00 น. พิธีจะเริ่มได้ก็ต่อเมื่อเจ้าอาวาสมาถึงเท่านั้น เริ่มจากคลุมผ้าพระวรกาย ถวายอาหารผลไม้ เปลี่ยนดอกไม้เก่าออกไปนำดอกไม้ใหม่มาถวาย พระมหาเถระและสาธุชนทั่วไปที่ศรัทธาจะมาทำพิธีล้างพระพักตร์ด้วยน้ำอบน้ำหอมผสมทานาคาอย่างดี ส่วนขั้นตอนการล้างพระพักตร์ จะล้างด้วยขันทอง 3 ครั้ง ขันเงิน 3 ครั้ง และขันธรรมดา 3 ครั้ง มีการแปรงพระโอษฐ์ (ริมฝีปาก) พร้อมกับใช้แปรงทองแปรงเสมือนหนึ่งแปรงพระทนต์ถวายพระพุทธเจ้า ก่อนใช้ผ้าจากศรัทธาสาธุชนที่ถวายมาเช็ดจนแห้งสนิท โดยการใช้ผ้าขนหนูเช็ดพระพักตร์ให้แห้งและขัดสีให้เนื้อทองสัมฤทธิ์ที่พระพัตร์นั้นสุกปลั่งเป็นเงางามอยู่เสมอ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุใดพระมหามัยมุนีจึงเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพักตร์อิ่มเอิบเป็นประกายวาววับอย่างที่สุด
เสร็จแล้วแล้วนำของกลับคืนแก่สาธุชนผู้นั้นไปบูชาต่อ พร้อมใช้พัดทองโบกถวายเป็นอันดี เสมือนหนึ่งได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนมชีพอยู่ หลังจากนั้นเจ้าอาวาสจะนำรักมาทาองค์พระแล้วปิดทอง พิธีทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
หลังจากทำพิธีล้างพระพักตร์แล้วจะนำภัตตาหารมาถวายให้พระมหามัยมุนีฉันเป็นอันเสร็จพิธี กระทำเช่นนี้ทุกเช้า ส่วนศาสนิกที่เข้าร่วมในพิธีจะนั่งกันอยู่บริเวณด้านหน้า โดยพื้นที่ส่วนหน้าสุดเบื้องหน้าพระมหามัยมุนีจะเป็นของฆราวาสผู้ชาย ถัดออกไปจะเป็นของฆราวาสผู้หญิง
วัดมหามัยมุนีมีธรรมเนียมปฎิบัติเช่นเดียวกับปูชนียสถานทุกแห่งในพม่าคือไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าใกล้องค์พระได้เท่าผู้ชาย ซึ่งผู้ชายสามารถขึ้นไปปิดทองที่องค์พระได้เลย ส่วนผู้หญิงนั้นทางวัดกำหนดเขตให้กราบสักการะองค์พระได้ระยะใกล้สุดราว 10 เมตร แต่สามารถซื้อแผ่นทองฝากผู้ชายขึ้นไปปิดทองแทนได้
พระเจ้าเนื้อนิ่ม
ด้วยเพราะเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้ร่วมพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี แต่ก็ไม่น่าแปลกใจที่ในแต่ละวันจะมีชาวเมียนมาและพุทธศาสนิกชนเข้ามาสักการะบูชากันเป็นจำนวนมากตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เมื่อไหว้พระแล้วคนส่วนใหญ่จะปิดทองที่องค์พระจึงทำให้มีทองคำเปลวปิดทับทั่วองค์พระวรกายเป็นชั้นๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนหนาขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นองค์พระมีนูนตะปุ่มตะป่ำ แม้ว่ากันว่าจะมีการลอกทองคำเปลวเก่าออกไปหลายครั้งแล้วก็ตาม ซึ่งหากเอานิ้วกดลงไปจะรับรู้ได้ถึงความอ่อนนิ่มของทองคำเปลว จึงเรียกพระมหามัยมุนีว่า “พระเจ้าเนื้อนิ่ม” หรือ “พระพุทธรูปเนื้อนิ่ม”
ข้อควรรู้ก่อนเข้าไปทำพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี
หากต้องการถ่ายภาพนิ่งหรือถ่ายวิดีโอที่วัดแห่งนี้จะต้องเสียเงินนะคะ โดยเขาจะให้สติกเกอร์มาติดที่หน้าอก ถ้าใครอยากจะถ่ายรูปแนะนำให้จ่ายเงินแล้วเอาสติกเกอร์มาติดนะคะ อย่าแอบถ่ายเลย เพราะว่าเงินส่วนนี้ก็จะนำไปบำรุงวัดค่ะ
ไหว้พระขอพร มหาเจดีย์ชเวมอดอ
แชร์ บทความนี้
พูดคุย เกี่ยวกับบทความนี้