เรื่องต้องรู้ 10 ประเภทวีซ่าชั่วคราว
เราเคยอธิบายให้ฟังในเรื่องของประเภทวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าประเทศไทยกันไปแล้ว คลิก ต่อไปเราจะมาทำความรู้จักกับประเภทวีซ่าชั่วคราวกันบ้าง ซึ่งเป็นการตรวจลงตราที่ออกให้แก่คนต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง แบ่งแยกย่อยออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน แต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกันไปแล้วแต่การใช้งานของแต่ละคน และนี่คือเรื่องต้องรู้กับ 10 ประเภทวีซ่าชั่วคราว
VISA Non-F
การปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ จะต้องมีเอกสาร หนังสือจากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ องค์การระหว่างประเทศ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐบาล ที่เกี่ยวข้อง
VISA Non-B
การติดต่อหรือประกอบธุรกิจ และการทำงาน แบ่งเป็น
การปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจ จะต้องมี
- หนังสือจากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ องค์การระหว่างประเทศ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐบาล ที่เกี่ยวข้อง
การทำงาน จะต้องมี
- หนังสือกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจ้งผลการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานในบริษัทฯ ที่ขอได้
- หนังสือจากบริษัทในประเทศไทยที่จะจ้างงานบุคคลต่างด้าวดังกล่าวชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการจ้างงาน พร้อมทั้งแนบเอกสารของบริษัท
การติดต่อธุรกิจ จะต้องมี
- หนังสือรับรองการทำงานของบริษัทที่ผู้ร้องทำงานอยู่ รวมทั้งระบุวัตถุประสงค์ของการเดินทางไปประเทศไทย ชื่อบริษัท ห้างร้าน หรือหน่วยงานที่จะไปติดต่อ
- หลักฐานแสดงฐานะทางการเงินหรือการทำธุรกิจของผู้ร้อง (กรณีไม่ได้ทำงานกับริษัทหรือหน่วยงานใดๆ)
- หลักฐานแสดงสถานะทางการเงิน/โครงการที่จะเข้ามาประกอบในประเทศไทย (กรณีประสงค์จะเข้ามาเป็นผู้ประกอบกิจการในประเทศไทย)
- หนังสือเชิญของบริษัทในประเทศไทยให้ผู้ร้องเดินทางไปประเทศไทยเพื่อติดต่อธุรกิจ
- กรณีผู้ร้องอ้างว่าเป็นที่ปรึกษาของบริษัท ต้องมีสำเนาหนังสือแต่งตั้งบุคคลของบริษัทยื่นประกอบด้วย สำเนาเอกสารของบริษัทฯ และกรณีหนังสือของบริษัทควรได้รับการรับรองจากสำนักงานทะเบียนของกระทรวงพาณิชย์ อายุไม่เกิน 6 เดือน - 1 ปี
ครู / อาจารย์ในสถาบันการศึกษาเอกชน จะต้องมี
- หนังสือตอบรับการจ้างจากสถาบันการศึกษา
- หนังสืออนุมัติให้จ้างบุคคลดังกล่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช) หรือจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ส่วนภูมิภาค)
- หลักฐานวุฒิการศึกษา
- หนังสือรับรองว่าไม่มีประวัติอาชญากรรม
VISA Non-IM
การลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
VISA Non-IB
การลงทุนหรือการอื่นภายใต้ข้อบังคับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
VISA Non-ED
การศึกษา ดูงาน และฝึกอบรมต่างๆ ซึ่งแบ่งได้เป็น
- นักเรียน/นักศึกษา จะต้องมีหนังสือตอบรับจากสถานศึกษา และหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กรณีเป็นโรงเรียนเอกชน)
- นักบวชที่จะเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา จะต้องมีหนังสืออนุญาตจากสำนักงานพระพุทธศานาแห่งชาติ
- การฝึกอบรม ดูงาน จะต้องมีหนังสือจากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ องค์การระหว่างประเทศ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐบาล ที่เกี่ยวข้อง
VISA Non-M
การปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน
VISA Non-R
การเผยแผ่ศาสนาที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
VISA Non-RS
การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์หรือฝึกสอนในสถาบันการค้นคว้า หรือสถาบันการศึกษาในราชอาณาจักร
VISA Non-EX
การปฏิบัติงานด้านช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญ
VISA Non-O
การอื่น คือวีซ่าชั่วคราวที่มีวัตถุประสงค์นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น โดยแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้
- การเข้ามาใช้ชีวิตในบั้นปลายในฐานะผู้สูงอายุ
- การเข้ามาในฐานะคู่ความหรือพยานสำหรับการพิจารณาดำเนินคดี
- การปฏิบัติหน้าที่หรือภารกิจในครอบครัวคนต่างด้าว ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทางการทูต กงสุลหรือปฏิบัติภารกิจอื่น โดยเป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตร ซึ่งอยู่ในความอุปการะและเป็นส่วนแห่งครัวเรือนของบุคคลดังกล่าว
- การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคนรับใช้ส่วนตัวซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อมาทำงานตามปกติ ณ ที่พักอาศัยของบุคคลในคณะผู้แทนทางการทูต หรือบุคคลซึ่งมีเอกสิทธิ์เท่าเทียมกัน กับบุคคลซึ่งมีตำแหน่งทางการทูตตามความตกลงที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ หรือกับองค์การ หรือทบวงการระหว่างประเทศ
- การให้ความอุปการะแก่หรือรับความอุปการะจากบุคคลสัญชาติไทย หรือบุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร โดยเป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตร ซึ่งอยู่ในความอุปการะและเป็นส่วนแห่งครัวเรือนของบุคคลดังกล่าว
- การปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครให้แก่องค์กรการกุศลสาธารณะหรือมูลนิธิ/สมาคม
- การเข้ามาในราชอาณาจักรของผู้เคยมีสัญชาติไทย เพื่อเยี่ยมญาติ หรือขอกลับเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร
- การเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการรักษาพยาบาล
ขอบคุณข้อมูลจาก: Ministry of Foreign Affairs Kingdom of Thailand
เข้าใจความแตกต่างของประเภทวีซ่าชั่วคราวกันแล้ว น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับใครที่มีญาติหรือคนรู้จักเป็นคนต่างชาติที่ต้องการขอวีซ่าชั่วคราวในประเทศไทย รวมไปถึงบริษัท ผู้จ้างงาน และองค์กรอื่นๆ จะได้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องและยื่นขอวีซ่าตามประเภทของตัวเองให้เรียบร้อย
มารู้จักกับประเภทของวีซ่ากันเถอะ
แชร์ บทความนี้
พูดคุย เกี่ยวกับบทความนี้