ไหว้พระ 9 วัดรอบเกาะรัตนโกสินทร์
เที่ยวกรุงเทพ เที่ยวได้หลายมุมมอง และถ้าจะเป็นทริปยอดฮิตสุดสัปดาห์หรือวันหยุดยาวแล้วล่ะก็ หนึ่งในนั้นก็ต้องเป็นทริปไหว้พระรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เนื่องจากวัดในบริเวณรอบๆ นี้มีวัดเก่าแก่ที่มีประวัติอันยาวนาน ล้วนแล้วแต่เป็นวัดสำคัญของไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ควรหาโอกาสดีๆ ในวันว่างๆ เข้าไปกราบไหว้ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง อีกทั้งยังได้เดินเที่ยวทั่วเกาะรัตนโกสินทร์ไปในตัว แนะนำทริปไหว้พระ 9 วัดพร้อมวิธีการเดินทางแบบที่เดินเที่ยวตามได้เลย
1. ไหว้ศาลหลักเมือง
การไปเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ถ้าจะให้สะดวกก็นั่งรถมาลงตรงสนามหลวง แล้วเราก็ค่อยเดินเที่ยวรอบๆ ไปเรื่อยๆ มาเริ่มต้นที่การไหว้ศาลหลักเมือง ซึ่งหลักเมืองเปรียบเหมือนเป็นหลักชัยแห่งชีวิต ไปสักการะ "เทพารักษ์ทั้ง 5" เพื่อตัดเคราะห์ ต่อชะตา เสริมวาสนาบารมี ใครจะไหว้เฉยๆ ก็ได้ หรือจะไหว้ให้ครบสูตรก็สามารถซื้อชุดทำบุญได้ที่ประตูทางเข้า มีทั้งดอกไม้ ธูปเทียน น้ำมันเติมไฟตะเกียง แล้วก็ผ้าสามสี *แนะนำคนราศีเมษควรมาไหว้ที่นี่ เพราะเป็นราศีที่เกิดเดือนเดียวกับดวงเมืองประเทศไทย ซึ่งมีการลงเสาเมืองในวันที่ 21 เมษายน 2325
2. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
เดินข้ามถนนต่อไปอีกหน่อย เราก็จะเจอกับวัดพระแก้วแล้วล่ะ วัดพระแก้ว หรือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีความสำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325 โดยเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง ภายในวัดได้ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร องค์สีเขียวมรกต หรือ พระแก้ว มีเครื่องทรงปรับเปลี่ยนตามฤดูกาลทั้งสามฤดู และเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เราสามารถเดินชื่นชมความงดงามโดยรอบ แล้วเข้าไปไหว้พระแก้วด้านใน เชื่อว่า "ไหว้พระแก้วมรกต แก้วแหวน เงินทอง ไหลมาเทมาตลอดปี"
3. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
เดินต่อไปที่ วัดโพธิ์ ซึ่งอยู่ด้านหลังพระบรมราชวัง ระหว่างทางก็เก็บภาพบรรยากาศ ตึกสวยๆ ของสมัยโน้นได้อีก ที่นี่เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 และยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย และด้วยความที่วัดโพธิ์แห่งนี้มีการจารึกเรื่องราวความรู้ต่างๆ หลากหลายแขนง ทางยูเนสโก้จึงได้ยกให้ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี พ.ศ.2551 และ ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติในปี พ.ศ.2554
วัดโพธิ์เป็นวัดที่มีองค์พระเจดีย์จำนวนมากถึง 99 องค์ โดยเฉพาะเจดีย์องค์สำคัญคือเจดีย์ 4 รัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงราชการที่ 4 อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือเข้าไปกราบไหว้พระนอนในวิหารพระไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปิดทองทั้งองค์ พระบาทซ้ายขวาซ้อนเสมอกัน โดยพระบาทประดับมุกภาพมงคล 108 ประการ ซึ่งการไหว้พระในวัดโพธิ์ "เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข อยู่ดีกินดีตลอดปี"
4. วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง)
เดินข้ามถนนไปยังฝั่งตรงข้ามของวัดโพธิ์ ไปขึ้นเรือที่ท่าเตียน เพื่อไปยัง วัดอรุณราชวราราม หรือ วัดแจ้ง เป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่เดิมเรียก "วัดมะกอก" และต่อมามีการสร้างวัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) จึงได้เปลี่ยนเป็น "วัดมะกอกนอก" ส่วนชื่อวัดแจ้งนั้น บ้างก็บอกว่าเกิดตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช บ้างก็ว่าเรียกกันมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ตั้งชื่อวัดว่า "วัดอรุณราชธาราม" และได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ "วัดอรุณราชวราราม" มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4
วัดอรุณได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์อยู่เรื่อยมาหลายรัชกาล โดยเฉพาะองค์ประปรางที่เสริมยอดขึ้นไป และการประดับตกแต่งลวดลายที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ จึงเป็นวัดที่มองเห็นความงดงามของพระปรางค์ได้ตั้งแต่อีกฟากฝั่งของแม่น้ำ ดังที่เรามักจะเห็นภาพวัดอรุณริมแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในหลายๆ ภาพ และนอกจากพระปรางค์แล้วคงหนีไม่พ้นถ่ายรูปกับยักษ์วัดแจ้ง เข้าไปกราบไหว้ด้านใน "เพื่อให้ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน"
5. วัดกัลยาณมิตร
ขึ้นเรือไปต่อที่วัดกัลยาณมิตร ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน เป็นพื้นที่อยู่ในหมู่บ้านกุฎีจีน โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์มหินทรมหากัลยาณมิตร (โต) ต้นสกุลกัลยาณมิตร ได้อุทิศบ้านและที่ดินบริเวณใกล้เคียง สร้างวัดและน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และได้ทรงพระราชทานนามว่า "วัดกัลยาณมิตร" จุดธูปไหว้พระด้านนอกเสร็จแล้ว ก็เข้าไปไหว้องค์หลวงพ่อโตในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ชื่อ พระพุทธไตรรัตนนายก "เพื่อการเดินทางปลอดภัยที่ดี มีมิตรตรีที่ดี"
6. วัดระฆังโฆสิตารามวรวิหาร (วัดระฆัง)
วัดระฆัง หรือ วัดระฆังโฆสิตารามวรวิหาร อีกหนึ่งวัดริมน้ำที่มีชื่อเสียงอันโด่งดังและมีผู้คนเข้ามากราบไหว้อย่างไม่ขาดสาย แต่เดิมคือวัดบางหว้าใหญ่ ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาพระสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้สร้างพระราชวังไว้ใกล้ๆ และยกให้เป็นวัดอารามหลวง และเมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ วัดแห่งนี้ได้อยู่ในความดูแลของเจ้านายวังหลัง โดยรัชกาลที่ 1 ได้ร่วมบูรณะวัดแห่งนี้และขุดพบระฆังลูกหนึ่ง และโปรดเกล้าฯ นำไปไว้ที่วัดพระแก้ว โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางหว้าใหญ่จำนวน 5 ลูก และพระราชทานนามใหม่เป็น วัดระฆังโฆสิตาราม โดยเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรมหาวิหาร วัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เข้าไปกราบไหว้เพื่อ "ชื่อเสียงโด่งดัง คนนิยมชมชอบ"
7. วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
นั่งเรือข้ามฟากกลับไปยัง ท่าช้าง เดินเก็บบรรยากาศและแวะเติมพลัง ระยะทางอาจจะไกลหน่อยๆ ใครเดินไม่ไหวก็นั่งรถตุ๊กๆ ไปได้ ซึ่งเราจะไปกันที่ "วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร" เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรวิหาร มีพระประธาน 2 องค์คือ พระพุทธชินสีห์ ซึ่งอัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก และพระสุวรรณเขต หรือ พระโต หรือ หลวงพ่อเพชร พระประธานองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานไว้เบื้องหลังพระพุทธชินสีห์
วัดแห่งนี้มีความสำคัญคือ เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์แห่งแรกในประเทศ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 และ 9 และเคยเป็นที่พำนักของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ ไหว้พระวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร "พบแต่สิ่งดีงามในชีวิต"
8. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง)
ออกจากวัดบวรฯ เลี้ยวขวา เดินไปตามทางเรื่อยๆ จะเจอกับ วัดภูเขาทอง หรือ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร ซึ่งแต่เดิมชื่อ "วัดสะแก" และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าให้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดสระเกศ" และเมื่อสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้โปรดให้สร้าง พระบรมพรต หรือ ภูเขาทอง แต่สร้างยังไม่เสร็จ พอถึงสมัยพระจอมเกล้าฯ จึงได้เปลี่ยนรูปแบบให้เป็นภูเขาและมีเจดีย์อยู่บนยอด และเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุของพระสมณโคดม สร้างเสร็จในสมัยพระจุลจอมเกล้าฯ และพระราชทานนามว่า "พระสุวรรณบรรพต" เราสามารถเข้าไปไหว้พระ แล้วเดินตามบันไดขึ้นไปด้านบนภูเขาทอง ไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุ บนพระบรมบรรพต มองเห็นวิวกรุงเทพฯ ข้างล่างตลอดทาง
9. วัดสุทัศนเทพวราราม
และแล้วก็มาถึงวัดสุดท้ายของทริปไหว้พระ 9 วัดรอบเกาะรัตนโกสินทร์กันแล้ว เดินออกด้านหลังวัดสระเกศฯ แล้วเลี้ยวซ้ายตรงไปเรื่อยๆ เมื่อเจอแยกให้เลี้ยวขวา ถ้ามองเห็นเสาชิงช้า ก็แสดงว่าเรามาถึงแล้ว "วัดสุทัศนเทพวราราม" หรือมักเรียกสั้นๆ ว่า "วัดสุทัศน์" หรือ "วัดเสาชิงช้า" เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ที่ตั้งอยู่ในเขตพระนครชั้นใน และจุดเด่นของวัดสุทัศน์ที่เราคุ้นเคยกันดีคือ เสาชิงช้าสูงใหญ่ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดนั่นเอง ซึ่งภายในวัดสุทัศน์มีพระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ ที่มีชื่อคล้องจองกันว่า "พระศรีศากยมุนี" "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" และ "พระพุทธเสรฏฐมุนี"
และอีกหนึ่งความสำคัญของวัดแห่งนี้คือ เป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 โดยมีพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตฯ ของรัชกาลที่ 8 ในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี เข้าไปไหว้ขอพรในวัดสุทัศน์ "วิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่คนทั่วไป"
แจกแพลนเที่ยวกรุงเทพฯ แบบครบรส
แชร์ บทความนี้
พูดคุย เกี่ยวกับบทความนี้