บุกถิ่นไชน่าทาวน์ ย้อนวันวาน ณ เยาวราช
พาไปบุกถิ่นไชน่าทาวน์ ย่านเยาวราช ย่านเก่าแก่ของชุมชนคนเชื้อสายจีนที่มีมานานนับร้อยปี กับเสน่ห์ของวัฒนธรรมจีนโบราณที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ไปไหว้ขอพรศาลเจ้าและวัดดัง และสถานที่ย้อนวันวานที่สำคัญ
วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)
วัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ ที่เราคุ้นเคยชื่อเสียงเรียงนามกันดี โดยชื่อ "เล่ง" แปลว่า มังกร "เน่ย" แปลว่า ดอกบัว และ "ยี่" แปลว่า วัด เป็นวัดจีนที่สำคัญและเก่าแก่กว่าร้อยปี และใช้เวลาในการสร้างถึง 8 ปี โดยมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีนตอนใต้ของตระกูลช่างแต้จิ๋ว โดยวางแปลนตามแบบวัดหลวง คือ
- มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก มีเทพเจ้า 4 องค์ เรียกว่า "ซี้ไต๋เทียงอ้วง" หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษา คุ้มครอง ทิศต่างๆ ทั้ง 4 ทิศ
- ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานของวัด คือ "ซำป้อหุกโจ้ว" คือ พระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ พระไภษัชยคุรุพุทธะ พร้อมทั้ง "จับโป๊ยหล่อหั่ง" คือพระอรหันต์อีก 18 องค์
- ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า โดยรวมแล้วมีเทพเจ้ามากถึง 58 องค์ ส่วนใหญ่มักจะไปขอพรเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ไฉ่ซิงเอี๊ยะ
วัดไตรมิตร
วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร หรือมักเรียกกันสั้นๆ ว่า วัดไตรมิตร มีชื่อเดิมว่า วัดสามจีน เข้าใจกันว่าชื่อนี้มาจากชาวจีน 3 คนร่วมกันสร้างพระอารามเพื่อเป็นวิหารทานการบุญ ภายในเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ซึ่งมีความงดงามจากเนื้อทองคำบริสุทธิ์ โดยได้มีบันทึกลงกินเนสส์บุคว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มักจะมีคนมาบนบานโดยถวายพวงมาลัยดอกมะลิ
ที่นี่ยังมีศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราชกันต่อ ตั้งอยู่บนชั้นสองของพระมหามณฑป บอกเล่าที่มาของชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาอาศัยในชุมชนสำเพ็งในสมัยรัชกาลที่ 1-3 จนตอนนี้สำเพ็งกลายเป็นย่านช้อปปิ้งชื่อดัง
วงเวียนโอเดี้ยน
วงเวียนโอเดี้ยน ตั้งอยู่ตรงจุดตัดถนนเจริญกรุง ถนนเยาวราช และถนนมิตรภาพไทย-จีน โดยได้เปลี่ยนวงเวียนเดิมที่เป็นน้ำพุ ให้เป็นซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ของในหลวงรัชกาลที่ 9 สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 ที่ออกแบบโดยช่างชาวจีน สังเกตเห็นบนยอดหลังคาซุ้มมีมังกร 2 ตัวกำลังชูตราสัญลักษณ์ “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542” และทองคำหนักบริสุทธิ์หนัก 99 บาท หุ้มพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. หมายถึง ชาวไทยเชื้อสายจีนที่เทิดทูนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไว้เหนือเกล้า และกลายเป็นวงเวียนสัญลักษณ์ของไชน่าทาวน์จนถึงปัจจุบัน
ศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า
มูลนิธิเทียนฟ้าได้ก่อตั้งขึ้นโดยการรวมตัวกันของชาวจีน 5 ภาษา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2445 เพื่อสงเคราะห์ผู้ป่วยที่ยากไร้ให้ได้รับการรักษาพยาบาล โดยมีทั้งการรักษาแบบแผนปัจจุบันและแผนจีน ภายในมีศาลเจ้าแม่กวนอิม องค์เจ้าแม่กวนอิมทำด้วยไม้จันทน์แกะสลักตามรูปแบบศิลปะราชวงศ์ถัง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยของราชวงศ์ซ่ง ได้ถูกอัญเชิญจากประเทศจีนมาประดิษฐานไว้ที่นี่ ผู้คนนิยมมาขอพรเรื่องสุขภาพ ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ ให้มีร่างกายแข็งแรง
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
ในย่านเยาวราชไม่ได้มีเพียงแต่เรื่องราวของชาวจีนเพียงเท่านั้น ยังมีพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก หรือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งใน 27 พิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร ที่ทางเจ้าของได้มอบบ้านให้ไว้เป็นที่ศึกษา โดยต่อมาได้ส่งมอบให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแล เราจะได้เห็นเรื่องราวของวิถีชาวบางกอกในชุมชนบางรัก ที่เป็นย่านดังมาตั้งแต่โบราณ ทั้งเป็นสถานที่ตากอากาศ ย่านธุรกิจ และมีชุมชนนานาชาติ ได้เห็นถึงการผสมผสานวัฒนธรรมของชาวบางกอกกับชาว จีน ฝรั่ง แขก รู้จักกับสถานที่ต่างๆ ที่เคยตั้งอยู่ในชุมชนที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยได้ยินมาก่อน
พิพิธภัณฑ์ทองคำ ห้างทองตั้งโต๊ะกัง
ห้างทองตั้งโต๊ะกัง ห้างทองเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บนตึกสูง 7 ชั้น ที่ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฮอลันดา ภายในตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์แบบจีน โดยชั้นล่างเป็นร้านทองทั่วไป ส่วนของพิพิธภัณฑ์นั้นอยู่ชนชั้น 6 จัดแสดงเครื่องมือทำทองและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สำหรับทำทองคำในสมัยโบราณ เช่น แม่พิมพ์ในการปั๊มทองคำ ตราชั่งไม้โบราณ เบ้าหลอมทอง แท่นตีทอง และเตาต้มทอง เป็นต้น
วัดหัวลำโพง
วัดหัวลำโพง เดิมชื่อ วัดวัวลำพอง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี สร้างมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างทางรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และพระราชทานนามว่า สถานีหัวลำโพง และหลังจากนั้นทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐิน ที่วัดวัวลำพอง ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ พระราชทานนามว่า วัดหัวลำโพง
นอกจากนี้ วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดหัวลำโพง และมูลนิธิร่วมกตัญญู ซึ่งผู้คนมักเข้าไปไหว้พระขอพรและทำบุญบริจาคโลงศพ
วัดบำเพ็ญจีนพรต ย่งฮกยี่
วัดบำเพ็ญจีนพรต (ย่งฮกยี่) เป็นวัดจีนเก่าแก่ในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย สร้างมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีความพิเศษและน่าสนใจของวัดแห่งนี้ก็คือ เป็นวัดจีนแห่งแรกของไทยโดยมีป้ายไม้ที่เป็นชื่อวัด ได้รับพระราชทานและลงลายชื่อรัชกาลที่ 5 และยังเป็นวัดจีนที่เล็กที่สุดในประเทศไทยที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางอาคารสูงที่รายล้อมอยู่โดยรอบ อีกทั้งยังเคยเป็นโรงแรมมาก่อนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ดังนั้นหากเราขึ้นไปด้านบนจะยังเห็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ในสมัยนั้นให้เห็นอยู่ โดยมีพระ 18 อรหันต์ที่สร้างมาจากผ้าป่านลงรักปิดทอง ซึ่งเป็นศิลปะที่หาชมยาก
ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ
ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย โดยพบหลักฐานเป็นป้ายที่จารึกเอาไว้ว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2201 หรือกว่า 360 ปีมาแล้ว โดยมีเทพเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ เป็นองค์ประธานของศาลเจ้า ซึ่งได้รับความเชื่อถือศรัทธาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของฮวงจุ้ยและการทำนายต่างๆ ด้วยความเชื่อที่ว่า จะทำให้กิจการการค้าเจริญรุ่งเรือง มีความมั่งคั่ง รวมไปถึงหากกราบไหว้ขอพรเรื่องบุตร ทำให้มีบุตรที่เลี้ยงง่ายและสุขภาพแข็งแรง
ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง
ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง เกิดจากแรงศรัทธาของชาวจีนที่อพยพมาขึ้นเรือที่ท่าน้ำทรงวาด ซึ่งแต่ก่อนท่าน้ำนี้ใช้ในการขนส่งสินค้าและการติดต่อกับต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวจีนเพื่อเป็นแรงใจในการทำงานและการดำเนินชีวิต ให้เทพเจ้าช่วยเหลือและคุ้มครองให้ผ่านพ้นกับอุปสรรคต่างๆ ออกไปได้ โดย "ปุนเถ้ากง" ในภาษาแต้จิ๋วนั้นหมายถึง "ชุมชนดั้งเดิม" ดังนั้น เล่าปูนเถ้ากง จึงหมายถึง เทพเจ้าที่คุ้มครองรักษาชุมชนดั้งเดิม หรือก็คือเจ้าที่ของท้องถิ่นนั้นๆ นั่นเอง
การได้ท่องไปในเยาวราชนั้น นอกจากจะได้เที่ยวชมชุนชนชาวจีนแล้ว เรายังได้เหลียวย้อนมองดูประวัติศาสตร์โบราณกว่าร้อยปีที่ยังคงแทรกซึมไปในทุกที่ในเยาวราช รวมไปถึงความเชื่อ ความศรัทธาที่สืบทอดมายาวนาน และควรค่าแก่การอนุรักษ์เอาไว้ให้ลูกหลานสืบต่อไป
ไหว้พระ 9 วัดรอบเกาะรัตนโกสินทร์
แชร์ บทความนี้
พูดคุย เกี่ยวกับบทความนี้