Q&A ถาม-ตอบ เกี่ยวกับ Non-Immigrant Visa “O”
ชาวต่างชาติได้รับการตรวจลงตราประเภท Non-O จากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ เพื่ออุปการะคู่สมรสหรือบุตร, หรือเพื่อเยี่ยมคู่สมรสหรือบุตรที่มีสัญชาติไทย หากเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และต้องการอยู่ต่อ การขออยู่ต่อครั้งแรกต้องเป็นเหตุผลและวัตถุประสงค์เดียวกันกับประเภทวีซ่าที่ได้รับมาข้างต้น
สำหรับการขอต่ออายุวีซ่าชั่วคราวประเภทอื่นๆ (Non-O Visa Extension) ซึ่งเป็นการขออยู่ต่อในประเทศไทย ของผู้ติดตามชาวต่างชาติที่มีความประสงค์จะติดตามครอบครัวที่มาทำงานหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการติดตามสามี/ภรรยา การติดตามคนในครอบครัวที่มาทำงานในประเทศไทย ล้วนแล้วแต่ต้องขอใบอนุญาตให้ถูกต้องทั้งสิ้น
สำหรับผู้ติดตาม (Dependent) จำเป็นจะต้องขอวีซ่าผู้ติดตามประเภท Non-Immigrant O (Dependent) Visa ก่อนนะคะ เพื่อที่จะได้พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ แต่จะดำเนินการอย่างไร และใครที่สามารถขอวีซ่าผู้ติดตามได้ วันนี้เรามีคำถาม - คำตอบ เกี่ยวกับ Non-O Visa สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาไทยโดยเฉพาะค่ะ
Q : ผู้ที่สามารถขอรับวีซ่าประเภท Non- Immigrant “O” ติดตามครอบครัว มีใครบ้าง?
A : ผู้ที่สามารถขอรับวีซ่าประเภทนี้ได้ได้แก่บุคคล 3 กลุ่ม ดังนี้
1.ชาวต่างชาติที่จดทะเบียนสมรสกับคนไทย / อุปการะบุตรคนไทย
2.ครอบครัว/ผู้ติดตามของผู้ถือวีซ่าประเภท Non- Immigrant "B" ที่มีใบอนุญาตทำงานในไทย
3.ครอบครัว/ผู้ติดตามของผู้ถือวีซ่าเกษียณ ซึ่งอายุต่ำกว่า 50 ปี
Q : พ่อตา แม่ยาย สามารถยื่นติดตามลูกเขยผู้ที่ได้รับสิทธิ์ให้อยู่ในราชอาณาจักร เพื่อทำงาน หรือทำธุรกิจ ได้หรือไม่?
A : พ่อตา แม่ยาย ไม่สามารถยื่นคำร้องขออยู่ต่อเพื่อติดตามลูกเขยผู้ที่ได้รับสิทธิ์ให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงาน หรือทำธุรกิจแล้ว ได้เนื่องจากไม่มีระบุไว้ในหลักเกณฑ์
Q : กรณีเป็นครอบครัวของผู้มีสัญชาติไทย (เฉพาะบิดามารดา คู่สมรส บุตร บุตรบุญธรรม หรือบุตรของคู่สมรส) มีหลักเกณฑ์การพิจารณาวีซ่าอย่างไรบ้าง?
A : หลักเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้
1.คนต่างชาติต้องได้รับการตรวจลงตรา ประเภทคนอยู่ชั่วคราว
2.มีหลักฐานแสดงความสัมพันธ์
3.กรณีคู่สมรสต้องมีความสัมพันธ์กันทั้งทาง นิตินัยและพฤตินัย หรือ
4.กรณีบุตร / บุตรบุญธรรม / บุตรของคู่สมรส ที่อยู่ในความอุปการะนั้น บุตร/บุตรบุญธรรม/บุตรของคู่สมรส ต้องยังไม่ได้สมรสและอยู่อาศัยเป็นส่วนแห่งครัวเรือนนั้น และต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี บริบูรณ์ หรือ
5.กรณีบิดาหรือมารดา ชาวต่างชาติที่บิดาหรือมารดาต้องการติดตามนั้น ต้องมีรายได้เฉลี่ยทั้งปีไม่น้อยกว่าเดือนละ 40,000 บาท หรือต้องมีเงินฝากไม่น้อยกว่า 400,000 บาท เพื่อไว้ใช้จ่ายในรอบ 1 ปี
6.กรณีสมรสกับหญิงไทย ฝ่ายสามีซึ่งเป็น คนต่างชาติต้องมีรายได้เฉลี่ยทั้งปีไม่น้อยกว่า เดือนละ 40,000 บาท หรือเงินฝากใน ธนาคารในประเทศไทยคงอยู่ในบัญชีตลอดระยะเวลาย้อนหลัง 2 เดือน ไม่น้อยกว่า 400,000 บาท เพื่อไว้ใช้จ่ายในรอบปี
Q : กรณีใช้ชีวิตในปั้นปลาย มีหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างไรบ้าง?
A : หลักเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้
1.คนต่างชาติต้องได้รับการตรวจลงตรา ประเภทคนอยู่ชั่วคราว
2.มีอายุตั้งแต่ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
3.มีหลักฐานการมีเงินได้ไม่น้อยกว่า เดือนละ 65,000 บาท ณ วันยื่นคำขอมีเงินฝากในธนาคารในประเทศไทย (ประเภทออมทรัพย์ธรรมดา / ประจำ) และเงินคงอยู่ในบัญชีตลอดระยะเวลาย้อนหลัง 3 เดือน ไม่น้อยกว่า 800,000 บาท เฉพาะในปีแรกให้แสดงบัญชีเงินฝากโดยมีเงินจำนวนดังกล่าวฝากอยู่ในบัญชีมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 วัน หรือ มีเงินได้ในรอบปี และมีเงินฝากธนาคาร คำนวณรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 800,000 บาท นับถึงวันยื่นคำขอ
Q : วีซ่าผู้ติดตามประเภท Non- Immigrant “O” สามารถขอได้เมื่อไหร่?
A : 1.การขอวีซ่าครั้งแรก ผู้ติดตามครอบครัวจะได้รับวีซ่าเข้าครั้งเดียวมีอายุ 90 วัน ออกโดยสถานเอกอัครราชฑูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยในประเทศที่ผู้ติดตามนั้นถือสัญชาติอยู่
2.การขอต่อวีซ่าครั้งต่อไป ผู้ติดตามจะต้องยื่นล่วงหน้าก่อนอายุวีซ่าหมดอย่างน้อย 21 วัน โดยจะขอขยายเวลาการพักอาศัยได้สูงสุด 1 ปี ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในประเทศไทย ในระหว่างที่รอผลพิจารณา สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยไปพลางๆ ก่อน
Q : ชาวต่างชาติที่เดินทางกลับประเทศตัวเอง และมี Non-O Retirement แต่หมดอายุที่ต่างประเทศ ต้องการต่อวีซ่า Non-O Retirement สามารถทำอย่างไรได้บ้าง?
A : หากวีซ่าหมดอายุที่ต่างประเทศต้องดำเนินการขอวีซ่าใหม่ จะไม่สามารถขอต่ออายุได้ค่ะ
โดยสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1.ทำ Non-O Retirement จากประเทศตัวเองเข้ามาไทยเลย โดยเข้ามาไทยแล้วจะต้องไปต่อวีซ่าอีกครั้ง
2.ทำ Tourist Visa เข้ามาไทยก่อนแล้วมาเปลี่ยนเป็น Non-O Retirement ที่ไทยได้ โดยจะต้องมีเงินฝากในบัญชี 800,000 บาทตามเงื่อนไขของวีซ่า
Q : ถ้าชาวต่างชาติไม่มีเงินฝากในบัญชี (ตามเงื่อนไข ไม่น้อยกว่า 400,000 บาท) แต่มีที่ทำงานในไทย ต้องทำอย่างไร?
A : 1.ต้องมีใบอนุญาตทำงาน
2.ต้องแสดงหนังสือรับรองจากบริษัทผู้ว่าจ้าง โดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่การงาน ประเภทของงานตำแหน่งตามใบอนุญาตทำงาน และเงินเดือน(เดือนละไม่น้อยกว่า 40,000บาท) ลงนามโดยผู้มีอำนาจ
3.ต้องแสดงหลักฐานการชำระภาษีเงินได้รับรองโดยสรรพากร พร้อมใบเสร็จรับเงิน(ภงด.1 ย้อนหลัง 3 เดือน และภงด.91 ในรอบปีที่ผ่านมา)
4.ต้องแสดงหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท(บอจ.5) ฉบับจริง(ไม่เกิน6เดือน)
Q : จะขอต่ออายุวีซ่าผู้ติดตาม Non-O จะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?
A : -แบบคำขอต่ออายุวีซ่า ตม.7
-รูปถ่ายขนาด 4 x 6 ซ.ม. หรือขนาด 2 นิ้ว จำนวน 1 รูป
-หนังสือเดินทางของผู้ยื่นคำขอ (แสดงเล่มจริง) พร้อมสำเนาทุกหน้า
-สำเนาใบอนุญาตทำงาน(Work permit)ของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรฯ (แสดงเล่มจริงพร้อมทุกหน้าที่มีข้อมูลปรากฎ)
-สำเนาเอกสารแสดงความสัมพันธ์กัน เช่น หลักฐานการสมรส สำเนาสูติบัตร หลักฐานการจดทะเบียนรับรองบุตร สำเนาทะเบียนบ้าน หลักฐานการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม หรือหลักฐานอื่นจากส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
Q : ผู้ที่ถือ Non-O Visa สามารถทำงานได้หรือไม่?
A : ชาวต่างชาติที่ถือ Non-O Visa ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยตามกฎหมาย หากมีความประสงค์ที่จะทำงาน จะต้องขอรับ Non-B Visa และต้องมีใบอนุญาตทำงานเท่านั้น
Q : ผู้ที่ถือ Non-O Visa สามารถเปลี่ยนประเภทได้หรือไม่?
A : ไม่สามารถเปลี่ยนประเภท เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่กำหนดของ Non-O Visa
Q : ผู้ที่ถือ Non-O Volunteer เมื่อวีซ่าใกล้หมดอายุแล้ว สามารถเปลี่ยนประเภทได้หรือไม่?
A : Non-O Volunteer มีอายุอยู่ได้ 1 ปี ไม่สามารถเปลี่ยนประเภทหรือต่อวีซ่าได้ เมื่อครบ 1 ปีแล้ว ต้องเดินทางกลับประเทศเท่านั้น
Q : Non-O Visa กรณีที่คู่สมรสนั้นมีการหย่าร้าง จะเป็นอย่างไร?
A : Non-O Visa จะถูกยกเลิกและจะต้องเดินทางออกจากประเทศทันที
Q : ชาวต่างชาติที่ถือ Non-O Visa กรณีที่ได้รับวีซ่าแบบ 1 ปี จำเป็นจะต้องยื่นแบบรายงานตัวหรือไม่?
A : จำเป็นจะต้องยื่นแบบรายงานตัว ต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทุก 90 วัน
Q : ชาวต่างชาติที่ถือ Non-O Visa กรณีที่มีความจำเป็นต้องออกนอกประเทศไทย โดยต้องการรักษาสิทธิเดิมที่ได้รับอนุญาตหากกลับมาประเทศไทยอีกครั้ง จะต้องทำอย่างไร?
A : หากต้องการจะเดินทางออกไปต่างประเทศแล้วกลับมาประเทศไทยอีกครั้ง โดยต้องการรักษาสิทธิเดิมที่ได้รับอนุญาต จะต้องยื่นคำขออนุญาตเพื่อกลับเข้ามาในประเทศไทย (Thailand Re-Entry Permit) ก่อนเดินทางออกไป
ซึ่งการยื่นคำขออนุญาตเพื่อกลับเข้ามาในประเทศไทย (Thailand Re-Entry Permit) สามารถทำได้ 2 แบบดังนี้
-แบบ Single Re-Entry สามารถใช้เดินทางได้ครั้งต่อครั้ง เหมาะกับผู้ที่เดินทางออกไปต่างประเทศไม่บ่อย หรือมีอายุวีซ่าเหลืออยู่น้อย
-แบบ Multiple Re-Entry สามารใช้เดินทางได้มากกว่า 1 ครั้ง เหมาะกับผู้ที่เดินทางออกไปต่างประเทศบ่อยครั้ง หรือมีอายุวีซ่าเหลืออยู่นาน
ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนดไว้
บทความที่เกี่ยวข้อง
ขอบคุณข้อมูลจาก
Q&A About Non-Immigrant Visa O
关于非移类O签证问答集Q&A
แชร์ บทความนี้
พูดคุย เกี่ยวกับบทความนี้