visa vs passport คนละเรื่องเดียวกัน เรียกใช้ให้ถูก
สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องมีพาสปอร์ตเป็นเอกสารสำคัญในการเดินทาง และบางครั้งอาจต้องมีการขอวีซ่าแนบไปด้วย สำหรับบางประเทศที่ต้องมีการยื่นขอวีซ่าก่อนเดินทาง ทีนี้หลายคนยังคงสับสนอยู่บ้างกับสองคำนี้ Visa กับ Passport ใช้แบบเดียวกันไหม ที่ผ่านมาใช้ถูกหรือเปล่า?
PASSPORT (พาสปอร์ต) คืออะไร?
พาสปอร์ต หรือ หนังสือเดินทาง เป็นเอกสารที่รับรองสัญชาติของผู้ถือ และเป็นเอกสารแสดงตน (identity) ของผู้ถือซึ่งออกให้โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศสำหรับใช้เดินทางระหว่างประเทศ โดยภายในเล่มพาสปอร์ตนั้น จะมีข้อมูลสำคัญที่ระบุตัวตนของผู้ถือพาสปอร์ต ได้แก่ ชื่อ วันเดือนปีเกิด เพศ และสถานที่เกิดของผู้ถือหนังสือเดินทาง โดยจะต้องมีติดตัวทุกครั้งที่เดินทางไปต่างประเทศ และจำเป็นต้องพกติดตัวเอาไว้เสมอ
หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ พาสปอร์ตก็ทำหน้าที่เหมือนกับบัตรประจำตัวประชาชน ที่จะมีข้อมูลระบุตัวตนของผู้เดินทาง สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เพื่อให้ทราบว่าผู้นั้นเป็นใคร มาจากประเทศอะไร หากมีอะไรต้องช่วยเหลือ หรือต้องการทราบว่าคนนี้คือใคร ก็สามารถทราบได้จากหนักงสือเดินทางหรือพาสปอร์ตนั่นเอง
VISA (วีซ่า) คืออะไร
วีซ่า คือ เอกสารที่ประเทศใดประเทศหนึ่งออกให้บุคคลที่ได้รับการพิจารณาให้สามารถเข้าประเทศผู้ออกตรวจลงตราได้ ภายในระยะเวลาหรือจุดประสงค์ที่บุคคลนั้นยื่นคำร้องขอ โดยจะนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองขณะเข้าประเทศที่ได้ยื่นขอวีซ่าไว้ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการประทับตราลงหนังสือเดินทาง อาจเป็นสติกเกอร์ หรือ ตราประทับ หรืออาจอยู่ในรูปแบบที่ไม่ได้ประทับลงในหนังสือเดินทางก็ได้
สงสัยกันไหม? บางครั้งเดินทางไม่เห็นต้องขอวีซ่า บางครั้งก็ต้องขอวีซ่า เพราะเป็นข้อกำหนดของแต่ละประเทศ ว่าการจะอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศต่างๆ นั้นก้าวข้ามเข้ามาในประเทศ จะต้องมีวีซ่าเป็นใบผ่านทาง หรือในหลายประเทศก็มีข้อยกเว้นว่าประเทศอะไรบ้างที่สามารถเดินทางเข้ามาได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า แต่ก็จะมีกำหนดระยะเวลาว่าสามารถพำนักได้กี่วัน ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เมื่อหลายปีก่อนนั้นมีการให้คนไทยต้องยื่นขอวีซ่าก่อนถึงจะเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ แต่ในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ญี่ปุ่นก็ผ่อนปรนนโยบายการเดินทางให้คนไทยสามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่จำเป็นต้องขอวีซ่า เป็นต้น
ประเภทของพาสปอร์ต
พาสปอร์ตของไทยแบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้
-
ปกสีน้ำตาล - หนังสือเดินทางธรรมดา (Ordinary Passport)
ออกให้สำหรับประชาชนทั่วไป หนังสือเดินทางมีอายุไม่เกิน 5 ปี มี 66 หน้า ไม่สามารถต่ออายุเพิ่มได้
-
ปกสีน้ำเงินเข้ม - หนังสือเดินทางราชการ (Official Passport)
มีอายุไม่เกิน 5 ปี ผู้ถือต้องใช้ในราชการเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ในการเดินทางส่วนตัว มีข้อกำหนดให้ออกให้เฉพาะข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภาซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ และบุคคลอื่นใดที่เดินทางเพื่อทำประโยชน์แก่ทางราชการตามที่กระทรวงการต่างประเทศอนุมัติ เท่านั้น
-
ปกสีแดงสด - หนังสือเดินทางทูต (Diplomatic Passport)
มีอายุไม่เกิน 5 ปี ไม่สามารถต่ออายุเพิ่มได้ มีข้อกำหนดออกให้เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้
3.1 พระบรมวงศ์และพระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
3.2 พระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าและคู่สมรส
3.3 พระราชวงศ์และบุคคลสำคัญที่ราชเลขาธิการขอไปเป็นกรณีพิเศษ
3.4 ประธานองคมนตรี และองคมนตรี
3.5 นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
3.6 ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา
3.7 ประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา และประธานศาลอุทธรณ์
3.8 ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด
3.9 อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
3.10 ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ
3.11 ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ
3.12 ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ ณ ส่วนราชการในต่างประเทศ คู่สมรส และบุตรในประเทศที่ประจำอยู่หรือทำการศึกษาอยู่ในประเทศอื่น แต่บุตรจะต้องอายุไม่เกิน 25 ปี
3.13 คู่สมรสที่ร่วมเดินทางไปกับบุคคลดังกล่าวในข้อ 3.2-3.8
3.14 บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการหรือภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศ หรือภายใต้สถานการณ์พิเศษที่มีความจำเป็น หรือเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศไทย
-
ปกสีเขียว - หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport)
ประเภทของวีซ่า
วีซ่าไปแบ่งออกเป็นหลายประเภท ตามวัตถุประสงค์ในการเดินทาง ดังนี้
- ประเภทคนเดินทางผ่านราชอาณาจักร (Transit Visa)
จะออกให้แก่คนประเทศที่ไม่ได้ถือสัญชาตินั้น ที่ประสงค์จะเดินทางเข้า มาในประเทศ เพื่อ เดินทางผ่านเล่นกีฬา เป็นผู้ควบคุมพาหนะหรือเป็น คนประจำพาหนะที่เข้ามายังท่า โดยจะมีอายุวีซ่า 3 เดือน พักได้ไม่ เกินครั้งล่ะ 30 วัน
- ประเภทนักท่องเที่ยว (Tourist Visa)
จะออกให้แก่คนประเทศที่ไม่ได้ถือสัญชาตินั้นที่ประสงค์จะเดินทางเข้า มาในประเทศ เพื่อ การท่องเที่ยว โดยจะมีอายุวีซ่า 3 เดือน หรือ 6 เดือน พักได้ไม่เกินครั้งล่ะ 60 วัน
- ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa)
จะออกให้แก่คนประเทศที่ไม่ได้ถือสัญชาตินั้นที่ประสงค์จะเดินทางเข้า มาในประเทศ เพื่อ การปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ การติดต่อประกอบธุรกิจ การทำงาน การลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง การ เข้ามาใช้ชีวิตในบั้นปลายในฐานะผู้สูงอายุ การเข้ามาในประเทศเพื่อการ รักษาพยาบาล โดยมีอายุวีซ่า 3 เดือนสำหรับเดินทางครั้งเดียว หรือ 1 ปีสำหรับเดินทางหลายครั้ง พักได้ไม่เกินครั้งล่ะ 90 วัน
- ประเภททูต (Diplomatic Visa)
จะออกให้แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการทูตหรือกงสุล หรือการปฏิบัติ หน้าที่ราชการ และผู้ร้องจะต้องถือหนังสือเดินทางทูต หรือ หนังสือเดินทางสหประชาชาติซึ่งเทียบเท่าหนังสือเดินทางทูต เท่านั้น โดยพักได้ไม่เกินครั้งล่ะ 90 วัน
- ประเภทราชการ (Official Visa)
จะออกให้ในการขอรับการตรวจลงตราเข้ามาในประเทศเป็นการชั่วคราวเพื่อ ปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ และผู้ร้องจะต้องถือหนังสือเดินทางราชการหรือหนังสือเดินทางสหประชาชาติ ซึ่งเทียบเท่าหนังสือเดินทางราชการเท่านั้น โดยพักได้ไม่เกินครั้งล่ะ 90 วัน
- ประเภทอัธยาศัยไมตรี (Courtesy Visa)
จะออกให้เฉพาะ การขอรับการตรวจลงตราเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราว หรือการขอรับการตรวจลงตราของผู้ถือหนังสือเดินทาง ธรรมดาโดยจะมีอายุวีซ่า 3 เดือน หรือ 6 เดือน พักได้ไม่เกินครั้งล่ะ 90 วัน
ยื่นขอพาสปอร์ตได้ที่ไหน?
สามารถยื่นขอหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตได้หลายแห่ง ดังนี้
- กรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ
- สำนักงานหนังสือเดินทาง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (รับทำเฉพาะหนังสือเดินทางราชการเท่านั้น)
- สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว บางนา - ศรีนครินทร์ (ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค)
- สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว สายใต้ใหม่ - ตลิ่งชัน (อาคาร SC Plaza)
- สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว มีนบุรี (ศูนย์การค้าบิ๊กซี สาขาสุวินทวงศ์)
- สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว MRT คลองเตย
- สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปทุมวัน (ศูนย์การค้าเ MBK CENTER)
- สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ธัญบุรี (ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต)
- สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว บางใหญ่ (ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา เวสต์เกต)
นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวในจังหวัดต่างๆ ตั้งอยู่ตามศาลากลาง อาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และศูนย์การค้า คอยให้บริการประชาชนสำหรับการทำพาสปอร์ต หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองหนังสือเดินทาง โทรศัพท์ 0 2981 7257 ถึง 60 และ 0 2203 5000 ต่อ 32303
ยื่นขอวีซ่าได้ที่ไหน?
สามารถติดต่อเพื่อยื่นขอวีซ่าได้หลายช่องทาง ดังนี้
- ติดต่อสถานทูตหรือศูนย์รับยื่นคำร้องขอวีซ่าโดยตรง
เป็นวิธีการยื่นขอวีซ่าแบบปกติทั่วไป คือการไปยื่นขอวีซ่าด้วยตัวเอง โดยต้องเตรียมเอกสารการยื่นขอวีซ่าให้ครบ แล้วไปติดต่อที่สถานทูตหรือศูนย์รับยื่นคำร้องขอวีซ่า ซึ่งแต่ละประเทศจะมีรายละเอียดในการยื่นขอวีซ่าที่ไม่เหมือนกัน
- ยื่นขอวีซ่าออนไลน์
ด้วยยุคออนไลน์แบบนี้ มีหลายประเทศที่เปิดให้ยื่นขอวีซ่าออนไลน์ได้แล้ว โดยสามารถเข้าไปกรอกแบบฟอร์มแบบออนไลน์และอัพโหลดข้อมูลส่วนตัว เช่น รูปถ่าย และเอกสารที่จำเป็นต่อการพิจารณาอนุมัติวีซ่า แต่ต้องเข้าไปดูข้อกำหนดต่างๆ ของแต่ละประเทศให้ดี รวมไปถึงระยะเวลาในการยื่นวีซ่า เพื่อจะได้ไม่พลาดการเดินทาง
- ขอวีซ่าที่สนามบินปลายทาง (Visa on Arrival)
Visa on Arrival เป็นวีซ่าที่ผู้ถือพาสปอร์ตไทยสามารถขอวีซ่าได้ที่สนามบินปลายทาง ผ่านช่องทางตรวจคนเข้าเมืองได้เลย แต่ต้องกรอกแบบฟอร์มให้ครบ และเสียค่าธรรมเนียมในการขอวีซ่า โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จะพำนักในประเทศนั้นๆ แต่ในการอนุมัติวีซ่านั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก: กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
ขอวีซ่าเชงเก้นรอบเดียวผ่าน ทำได้ไม่ยาก!
แชร์ บทความนี้
พูดคุย เกี่ยวกับบทความนี้