ปราสาทเทพนิยาย นอยชวานสไตน์ (Neuschwanstein Castle)
‘ปราสาทนอยชวานสไตน์’สร้างขึ้นบนยอดเขาลูกนึง ที่รายล้อมด้วยภูมิทัศน์ที่สวยงามของเทือกเขาแอลป์และทะเลสาบด้านล่าง จุดประสงค์ของการสร้างปราสาทนี้เพื่อให้ผสานกลมกลืนไปกับธรรมชาติอันงดงามรอบด้าน ปกติการสร้างปราสาทจะต้องมีสวนที่สวยงามเป็นบริเวณกว้าง มีการสร้างบ่อน้ำพุในสวน แต่นอยชวานสไตน์ไม่จำเป็นต้องมีสวน เพราะมีธรรมชาติอันน่าอัศจรรย์รายล้อมอยู่แล้ว ไม่ต้องมีน้ำพุเพราะมีน้ำตกทางธรรมชาติอยู่ใกล้ ๆ
‘ปราสาทนี้สร้างขึ้นโดยพระเจ้าลุดวิกที่ 2’ แห่งรัฐบาวาเรีย (มีพระชนม์ชีพระหว่าง 25 สิงหาคม พ.ศ. 2388 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2429) ในสมัยนั้นเยอรมันยังไม่ได้รวมกันเป็นประเทศอย่างในปัจจุบัน แคว้นเล็กๆต่างปกครองกันเอง มีกษัตริย์ของตัวเอง กษัตริย์ลุดวิกทรงขึ้นครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุเพียง 18 ชันษา เป็นกษัตริย์อารมณ์ศิลป์ สนใจศิลปะ ดนตรี และวรรณกรรม มากกว่าจะสนใจปกครองบ้านเมือง ทรงนิยมสร้างปราสาท หลงไหลในตำนานพื้นบ้านเกี่ยวกับเทพของเยอรมันและพวกไวกิ้ง และชื่นชอบอุปรากรของริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) เป็นชีวิตจิตใจ จนพวกขุนนางทนไม่ไหว ตั้งข้อหาสติวิปลาส แล้วปลดพระองค์ลงจากตำแหน่ง หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มีคนพบพระศพจมน้ำตายอย่างปริศนา
นับตั้งแต่วันที่เริ่มสร้างจนถึงปัจจุบัน ปราสาทแห่งนี้มีอายุราว 140 ปี ผู้ที่ออกแบบปราสาทแห่งนี้ไม่ใช่สถาปนิก แต่กลับเป็นคนออกแบบฉากละคร ทำให้ปราสาทแห่งนี้เหมือนปราสาทในจินตนาการมากกว่าปราสาทแห่งอื่น ภายนอกสร้างให้ดูเหมือนปราสาทในยุคกลาง แต่ภายในเต็มไปด้วยศิลปะในยุคต่างๆ ไบแซนไทน์ โรมันเนสก์ โกธิก แถมพระองค์ยังมีหัวก้าวหน้าในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สุดมาใช้ในปราสาทแห่งนี้ ทั้งระบบไฟฟ้า ประปา แถมยังมีโทรศัพท์ในปราสาทอีกด้วย มีระบบทำน้ำร้อนน้ำเย็นพร้อมเสร็จ
‘ชื่อของปราสาทนอยชวานสไตน์ (Neuschwanstein)’ มีความหมายดังนี้
neu = new แปลว่าใหม่
schwan = swan แปลว่าหงส์
stein = stone แปลว่าหิน
ฉะนั้นนอยชวานสไตน์ จึงแปลว่า New Swan Stone Castle หรือปราสาทหินหงส์ใหม่
กรุณาอย่าออกเสียงผิดเป็นนอยชไวน์สไตน์ (Neuschweinstein) เพราะ schwein แปลว่าหมู จะกลายเป็น New Pig Stone Castle หรือปราสาทหินหมูใหม่ แต่ถ้าไปเยอรมัน แล้วอยากทานขาหมูเยอรมันให้สั่ง Schweine Haxe "ชวายเนอร์ ฮักเซอ" นอกเรื่องไปเรื่องกินได้ไงเนี่ย พูดถึงปราสาทหงส์อยู่ดีๆ กลายเป็นขาหมูไปซะแระ
ปราสาทนอยชวานสไตน์เป็นปราสาทที่ยังสร้างไม่เสร็จ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ปราสาทนี้ได้ถูกสร้างไปเพียง 1 ใน 3 ของแผนที่วางไว้ แล้วพระเจ้าลุดวิกที่ 2 เองก็เสด็จมาประทับที่ปราสาทแห่งนี้เพียง 170 วันเท่านั้น หลังจากสิ้นพระชนม์เชื้อสายของพระองค์ได้เปิดให้ประชาชนได้ชื่นชมภายในบางส่วน โดยเก็บค่าเข้าชมเป็นค่าทะนุบำรุงซ่อมแซม และทำรายได้มหาศาลให้กับรัฐในภายหลัง ถ้าเป็นช่วงหน้าร้อนของยุโรปนักท่องเที่ยวจะแน่นขนัด มีทั้งคนเยอรมันเองและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ต้องการมาชมปราสาทในเทพนิยายแห่งนี้ซักครั้งเป็นบุญตา
‘ห้องที่เห็นเรียกว่า Throne Hall หรือห้องราชบังลังก์ ’ ดูยิ่งใหญ่อลังการ สีเหลืองทองอร่ามในศิลปะแบบไบแซนไทน์ แต่ห้องนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์เพราะขาดสิ่งสำคัญที่สุดของห้อง ก็คือบัลลังก์นั่นเอง โคมระย้าที่ตั้งอยู่กลางห้องมีน้ำหนักถึง 900 กิโลกรัม สามารถชักรอกลงมาได้เพื่อทำความสะอาดหรือเปลี่ยนเทียนเล่มใหม่
‘ห้องบรรทมของพระเจ้าลุดวิก’ ได้สร้างขึ้นในศิลปะแบบโกธิก มีงานแกะสลักไม้อย่างวิจิตรบรรจง ภาพวาดในห้องนี้มาจากอุปรากรเรื่อง Tristan and Isolde ของวากเนอร์ ข้างๆพระเก้าอี้สีน้ำเงินเป็นโต๊ะสำหรับล้างพระพักตร์ ใช้เทคโนโลยีน้ำประปายุคปัจจุบันให้น้ำไหลผ่านคอหงส์เงิน
‘ห้องชั้นบนสุดของปราสาท’ เรียกว่า Singers Hall เป็นห้องที่ใช้สำหรับจัดแสดงอุปรากรของวากเนอร์โดยเฉพาะ มีการออกแบบระบบอคูสติกของห้องเป็นอย่างดี และแน่นอน ภาพวาดที่ประดับห้องนี้มาจากอุปรากรเรื่อง Parsifal ของวากเนอร์ กษัตริย์ลุดวิกไม่มีโอกาสได้ทอดพระเนตรการแสดงในห้องนี้ขณะที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่
ในการมาชมปราสาทนอยชวานสไตน์ ‘นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางจากเมืองมิวนิกโดยทางรถไฟ’ ลงที่เมืองฟุสเซน (Füssen) ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงพอดี ๆ จากสถานีรถไฟให้ต่อรถบัสสาย 73 หรือ 78 เป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร ซึ่งจะจอดที่จุดขายตั๋วชมปราสาท หลังจากนั้นต้องขึ้นเขาไปยังตัวปราสาทโดยการเดิน หรือขึ้นรถบัส หรือรถม้า ก็เลือกได้ตามอัธยาศัย ราคาก็ขึ้นอยู่กับบริการที่เลือก
ไม่ไกลจากปราสาทนอยชวานสไตน์ เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงจะมองเห็นปราสาทแรกก่อน มีสีเหลือง ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ มีชื่อว่าปราสาทโฮนชวานเกา (Hohenschwangau) ซึ่งโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นพระราชวังฤดูร้อนโดยพระเจ้าแม็กซิมิเลียนที่สอง (Maximilian II) พระบิดาของพระเจ้าลุดวิกนั่นเอง เจ้าชายลุดวิกในวัยเยาว์ทรงประทับอยู่ที่ปราสาทนี้อย่างมีความสุข และเป็นแรงบันดาลใจที่จะสร้างปราสาทของพระองค์เองขึ้นบ้าง พูดง่าย ๆ คือโฮนชวานเกาคือปราสาทของผู้พ่อ ส่วนนอยชวานสไตน์คือปราสาทของผู้ลูก
‘หลายคนคงสงสัยว่าชื่อโฮนชวานเกา ยาว ๆ นี้ แปลว่าอะไร’
hohen = high แปลว่าสูง
schwan = swan แปลว่าหงส์
gau = county or region แปลว่าดินแดนหรือเขตแดน
Hohenschwangau Castle จึงแปลว่า Castle of the High Swan County หรือปราสาทแห่งดินแดนหงส์ที่อยู่สูงครับ
ปราสาทโฮนชวานเกาอยู่ไม่ห่างกันนักจากปราสาทนอยชวานสไตน์ สามารถเดินถึงกันได้ใน 20 นาที และสามารถซื้อทัวร์เข้าไปชมทั้งสองปราสาทได้ในวันเดียวกัน
ก่อนจะจบ ขอพาไปชมปราสาทอีกสองหลังที่พระเจ้าลุดวิกที่ 2 ได้ทรงโปรดให้สร้างขึ้น
‘ปราสาทลินเดอร์ฮอฟ (Linderhof)’ ใกล้เมืองโอเบอร์อัมเมอร์เกา (Oberammergau) เป็นปราสาทหลังเล็ก ๆ ในสไตล์ร็อกโคโค และเป็นปราสาทหลังที่สองที่พระเจ้าลุดวิกทรงโปรดให้สร้างขึ้น และเป็นหลังเดียวที่สร้างเสร็จสมบูรณ์
‘ปราสาทแฮร์เรนคีมเซ (Herrenchiemsee)’ เป็นปราสาทหลังที่สามที่พระเจ้าลุดวิกโปรดให้สร้างขึ้นบนเกาะกลางทะเลสาบคีมเซ โดยได้ต้นแบบจากพระราชวังแวร์ซายส์ในฝรั่งเศส แต่สร้างไม่เสร็จเพราะสิ้นพระชนม์เสียก่อน
‘พระเจ้าลุดวิกที่ 2’ ทรงสร้างปราสาทไว้ทั้งหมด 3 แห่ง จริง ๆ ตั้งใจสร้างแห่งที่สี่ด้วย แต่ยังไม่ทันสร้างก็สิ้นพระชนม์ซะก่อน พระองค์โปรดปรานที่จะใช้เวลาเพลิดเพลินไปกับดนตรีและศิลปะอยู่ในปราสาทเหล่านี้มากกว่าจะไปอยู่ในพระราชวังในเมืองหลวงบริหารรัฐกิจ ปราสาทแต่ละแห่งอลังการงานสร้างมาก ๆ ใช้เงินมากมายมหาศาล แต่พระองค์ก็ไม่เคยเอาเงินแผ่นดินมาสร้างปราสาท ทั้งหมดเป็นเงินส่วนพระองค์ ถึงแม้จะต้องกู้หนี้ยืมสินจนเป็นหนี้มหาศาลก็ตาม พวกขุนนางใช้จุดนี้เป็นข้ออ้างอีกเรื่องในการปลดพระองค์ว่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย
แต่เรื่องตลกกลับกลายเป็นว่าเมื่อเวลาผ่านไป ปราสาทนอยชวานสไตน์เป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญอันดับหนึ่งของเยอรมนี และทำรายได้ให้ประเทศเป็นเงินมหาศาล
สนใจจองตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวเยอรมัน และยุโรปในราคาที่ถูกกว่าใครได้ที่นี่ค่ะ
แต่ถ้าใครที่ไม่ชอบเดินทางร่วมกันกับผู้อื่นเราขอแนะนำประสบการณ์ในการเดินทางแบบใหม่เรียกว่าการเดินทางแบบเที่ยวส่วนตัวหรือว่า "Group and Go" นั่นเองค่ะ
แชร์ บทความนี้
พูดคุย เกี่ยวกับบทความนี้