หมู่บ้านมิงกุน อนุสรณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าปดุง
พม่าไม่ได้มีแค่เจดีย์ชเวดากอง เพราะยังมีความยิ่งใหญ่ก่อนจะมาเป็นพม่า ไปดูอนุสรณ์สถานความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าปดุง กษัตริย์ชนชาติพม่า ที่ทรงสามารถแผ่อาณาจักรไปได้กว้างขวาง หมู่บ้านมิงกุน เป็นหมู่บ้านสำคัญในสมัยของพระเจ้าปดุงแห่งอมระปุระ หมู่บ้านที่เป็นภาพสะท้อนของความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพระมหากษัตริย์ในยุคนั้น
หมู่บ้านมิงกุนเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ของเมืองละกายแห่งลุ่มแม่น้ำเอยาวะดี ที่เป็นที่ตั้งของมหาเจดีย์ ที่ผู้ก่อสร้างคาดหวังให้เป็นเจดีย์ที่สูงใหญ่ที่สุดในพม่า แต่ก็สร้างไม่เคยเสร็จ มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับเหตุผลของการสร้างไม่เสร็จ
เมื่อมาถึงหมู่บ้านมิงกุน จุดแรกที่เราจะได้เจอคือ เจดีย์เซตตอยา มีสิงห์คู่ประทับอยู่ด้านหน้า ซึ่งพระเจ้าปดุง โปรดฯ ให้สร้างครอบรอยพระพุทธบาท ที่สลักบนหินอ่อน เป็นสัญลักษณ์ของการก้าวย่างสู่ดินแดน ที่พระเจ้าปดุงมีพระราชดำรัส สร้างเจดีย์มิงกุน หรือ เจดีย์จักรพรรดิ์ที่ใหญ่ที่สุดและสูงกว่าเจดีย์ใดๆ ในสุวรรณภูมิ รูปทรงของเจดีย์เซตตอยา แห่งนี้ กล่าวกันว่าหากเจดีย์แห่งมิงกุนสร้างเสร็จ จะมีหน้าตารูปทรงและสัดส่วนคล้ายคลึงกับที่นี่ แต่รายละเอียดไม่เหมือนกันและใหญ่กว่าหลายสิบเท่า
เจดีย์เซตตอยา
Credit :https://en.m.wikipedia.org/wiki/Settawya_Pagoda
โบราณสถานด้านหน้าเจดีย์มิงกุน เป็นซากของรูปสิงห์คู่ ซ้าย ขวา ตรงกลางจะเป็นทางเดินเข้าสู่เจดีย์มิงกุน เป็นรูปสิงห์ ท่าหมอบ หันหน้าไปทางแม่น้ำเอยาวะดี สิงห์คู่นี้ สร้างไม่เสร็จเหมือนกับเจดีย์มิงกุน และที่พังทะลายลงมาแบบนั้น เพราะชาวบ้านหลายๆคนเชื่อว่า ในการสร้าง สร้างไม่ถูกต้องตรงกับฤกษ์งามยามดี จึงทำให้สร้างไม่เสร็จและที่เหลือก็พังลงมา เจดีย์มิงกุนเป็นร่องรอยของความทะเยอทะยานของพระเจ้าปดุง ซึ่งต่อมาภายหลังได้ยกทัพไปตีเมืองยะไข่ เมื่อทรงตีเมืองยะไข่ได้สำเร็จพระองค์ก็ทรงมั่นพระทัยที่จะทำการใหญ่ ทั้งการขยายราชอาณาจักร รวมทั้งการตีกรุงศรีรัตนโกสินทร์ และความคิดในการจะสร้าง มหาเจดีย์จักรพรรดิ์ ที่ใหญ่ทีสุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศของพระองค์ต่อการเป็นพระมาหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ และศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ในเวลานั้นทรงเกณฑ์เชลยศึกชาวยะไข่กว่า 50,000 คน มาสร้างองค์เจดีย์ แต่ด้วยการใช้แรงงานเชลยศึกอย่างหนัก ทำให้แรงงานชาวยะไข่ ทิ้งงานหนีการกดขี่แรงงานไปขอความช่วยเหลือจาก เบงกอล ดินแดนในอาณัติของอังกฤษ ที่เวลานั้นไปปกครอง พื้นที่ด้านตะวันตกอยู่ก่อนแล้ว นี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เจดีย์สร้างไม่เสร็จ
เจดีย์มิงกุน หรือเจดีย์จักรพรรดิ์
Credit: https://www.flickr.com/photos/nebelkuss
งานก่อสร้างเจดีย์จักรพรรดิ์แห่งมิงกุนดำเนินไปได้เพียง 7 ปี พระเจ้าปดุงเสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ. 2362 ภายหลังทรงพ่ายแพ้ไทย ในสงครามเก้าทัพ มหาเจดีย์อันยิ่งใหญ่ในพระราชหฤทัยของพระองค์จึงปรากฎเพียงแค่ฐานใหญ่โตมหึมาดั่งภูเขา อิฐที่มีความมั่นคงถึง 50 เมตร ซึ่งหากสร้างเสร็จตามแผนจะเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดและสูงที่สุดในโลก สูงถึง 152 เมตร ส่วนรอยแตกราวกลางฐานเกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี พ.ศ. 2381
ระฆังมิงกุน
Credit : https://www.pinterest.com/pin/789818853375699220/
ถัดไปไม่ไกลจากเจดีย์ใหญ่ ในบริเวณเดียวกันมีระฆังสำริดมิงกุน สร้างโดยพระเจ้าปดุง เป็นระฆังที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก แต้ถ้านับเป็นระฆังชนิดแขวนแล้วยังตีดัง ชาวพม่าต่างบอกว่าเป็นระฆังแขวนที่ใหญ่ที่สุดของโลก สูง 12 ฟุต และวัดปากขอบยาว 16 ฟุต 3 นิ้ว หนัก 90 ตัน เชื่อกันว่าถ้าใครได้ไปตีระฆังมิงกุน จะมีชื่อเสียงโด่งดังไปไกลเหมือนกับเสียงของระฆังนั่นเอง ระฆังมิงกุนจึงเป็นความภูมิใจของชาวพม่าอย่างมาก
ปล.มีเรื่องเล่ากันว่า พระเจ้าปดุงทรงสั่งให้ประหารชีวิตช่างทันทีที่สร้างเสร็จ เนื่องจากพระองค์กลัวว่าช่างจะไปสร้างระฆังแบบนี้ให้กับคนอื่น
เจดีย์ชินพิวเม
Credit : https://www.pinterest.com/pin/522910206728503127/
อีกหนึ่งสถานที่คือ เจดีย์ชินพิวเม ประดิษฐานอยู่เหนือระฆังมิงกุนไม่ไกลนัก ได้ชื่อว่าเป็นเจดีย์ ที่สวยสง่ามากแห่งหนึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2359 โดยพระเจ้าบากะยีดอว์ พระราชนัดดาในพระเจ้าปดุง เป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่พระองค์มีต่อพระมหาเทวีชินพิวเม ซึ่งถึงแก่พิราลัยก่อนเวลาอันควร จึงได้รับสมญานามว่า “ทัชมาฮาลแห่งลุ่มอิระวดี” นั่นเอง
วัดเก่าโบราณ วิหารไม้สักทอง วัดชเวนันดอว์ แห่งพม่า
แชร์ บทความนี้
พูดคุย เกี่ยวกับบทความนี้